ดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง รอการเปิดเผยตัวเลขภาคแรงงานสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2560 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ ในตลาดยังคงปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนจากแรงเทขายของนักลงทุน โดยที่ดัชนีดอลลาร์เปิดตัวในวันจันทร์ (31/7) ที่ระดับ 93-36 อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากระดับปิดในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่นักลงทุนยังคงมีความไม่สบายใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองโดยในเช้าวันอังคาร (1/8) วุฒิสภาสหรัฐลงมติคัดค้านการล้มเลิกใช้กฎหมายประกันสุขภาพฉบับโอบามาแคร์ ซึ่งความล้มเหลวดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสามารถผลักดันนโยบายด้านภาษีและการคลังตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ได้ รวมทั้งยังมีแรงกดดันจากดัชนีเศรษฐกิจที่ไม่ได้สะท้อนถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในวันอังคาร (1/8) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมิถุนายน หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนมิถุนายน ในขณะที่ทางบริษัทไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.3 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงกว่าระดับ 52, นอกจากนี้ นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก ได้แสดงความเห็นในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมเศรษฐกิจแห่งลาสเวกัสว่า เฟดควรปรับลดงบดุลซึ่งปัจุบันมีมูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐได้ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างเต็มที่แล้ว นายวิลเลียมส์ยังได้กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการปรับลดงบดุลของเฟดอาจจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี จึงจะทำให้งบดุลกลับสู่ระดับที่เป็นปกติและสมเหตุสมผล นอกจากนี้ นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ กล่าวว่า เฟดไม่ควรจะมีปฏิกิริยามากเกินไปต่อตัวเลขเงินเฟ้อที่อ่อนแอ ซึ่งนางลอเรตตาเน้นย้ำว่าเฟดควรที่จะใช้เวลาพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจเพื่อสร้างความกระจ่างในประเด็นเงินเฟ้อ ว่าความอ่อนแอของตัวเลขเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงแค่ชั่วคราวหรือไม่ นางลอเรตตายังกล่าวอีกว่า การที่เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในแต่ละปี ได้ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถชะลอกระบวนการคุมเข้มทางการเงินได้ตามความจำเป็น โดยนักลงทุนจะเฝ้ารอตัวเลขภาคแรงงานประจำเดือนกรกฎาคมของสหรัฐในค่ำคืนวันศุกร์ (4/8)

ในส่วนของค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (31/7) ที่ 33.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (27/7) ที่ระดับ 33.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ระหว่างสัปดาห์นั้นค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 33.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27/7) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2560 อยู่ที่ 4.17 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.95% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ 3.74 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.72% แต่เพิ่มขึ้นเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.05 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2.95% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้ในวันนี้ (31/7) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย.อยู่ที่ 111.76 หดตัว 0.16% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ MPI ไตรมาส 2 หดตัว 0.06% อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมโดยรวมดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมครึ่งปีแรกของปี 2560 MPI ขยายตัว 0.15% รวมทั้งในวันพฤหัสบดี (3/8) สำนักงานเศรษฐกิจการคลังยังคงมองเศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 ซึ่งปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยคาดทุนระยะสั้นไหลเข้ามีแนวโน้มที่จะกดค่าเงินบาทให้แข็งค่าหลุด 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.25-33.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (4/8) ที่ระดับ 33.24/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ด้านการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (31/7) ที่ระดับ 1.1740/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (27/7) ที่ระดับ 1.1717/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโร ยังคงแข็งค่าขึ้้นต่อเนื่องจากการอ่อนค่าลงของค่าเงิน โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในยูโรโซน ประจำเดือนกรกฎาคม ออกมาทรงตัวที่ระดับ 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว และสอดคล้องกับตัวเลขที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ อีกทั้ง ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี จากระดับ 1.2% ในเดือนมิถุนายน และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงสู่ระดับ 1.1% โดยในวันพุธ (2/8) สำนักงานสถิติแห่งยุโรปหรือยูโรสแตท เปิดเผยว่า ตัวเลขประมาณการเบื้องต้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนในไตรมาส 2 ปี 2560 รายไตรมาสปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% และปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบรายปี และในวันพฤหัสบดี (3/8) สำนักงานยูโรสแตทเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิตในยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มส่งสัญญาณขยายตัวเร็วขึ้น จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่ 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1821-1.1909 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (4/8) ที่ระดับ 1.1879/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (31/7) เปิดตลาดที่ระดับ 110.37/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (27/7) ที่ระดับ 111.37/40 เยน/ดอลลาร์สหรับ และแข็งค่าสู่ระดับ 110.22/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันอังคาร (1/8) โดยค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นเนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อค่าเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากที่สหรัฐ ต้องเผชิญกับปัญหาด้านการเมืองและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ผลสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัว 2.5% ในไตรมาส 2/2560 โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคในภาคเอกชน และการใช้จ่ายเงินทุน ซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 นอกจากนี้ ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขยอดค้าปลีก ประจำเดือนมิถุนายน ทรงตัวที่ 2.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3% ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.82-110.98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (4/8) ที่ระดับ 110.08/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ