คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า ผู้เขียน : กอบสิทธิ์ ศิลปชัย, กฤติกา บุญสร้าง ธนาคารกสิกรไทย
ปี 2024 เป็นอีกปีที่ค่าเงินบาทผันผวนอย่างหนัก ล่าสุดค่าเงินบาทได้แข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากระดับอ่อนค่าที่สุดของปีนี้ที่ 37.17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนเมษายน เป็น 32.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกันยายน แข็งค่า 13.5% ภายในระยะเวลา 5 เดือน เฉพาะแค่เดือนกันยายน ค่าเงินบาทแข็งค่ามากถึง 5.27%
การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาท เกิดจากในระยะก่อนหน้านี้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากเกินไป จากคาดการณ์ตลาดที่กังวลว่าเฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยของบีโอเจในระยะก่อนหน้าที่ยังไม่แน่นอน และเศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับความท้าทายสำคัญ และอาจไม่บรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ 5% ในปีนี้ เป็นแรงกดดันหลักต่อค่าเงินสกุลเอเชีย รวมถึงค่าเงินบาทด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี ในปีนี้ และเปิดประเดิมด้วยลดดอกเบี้ยครั้งใหญ่ 0.5% ทำให้ดอลลาร์สหรัฐถูกเทขาย ท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ส่งสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่แผ่วลงชัดเจน
ในขณะที่ฝั่งเอเชีย ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง สนับสนุนให้ค่าเงินเยนแข็งค่า ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของจีน ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากช่วงโควิด ผลักดันหุ้นจีนให้พุ่งมากกว่า 20% ในสัปดาห์เดียว และค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 16 เดือน รวมถึงราคาทองคำพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ ทั้งหมดนี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในระยะนี้
ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลายฝ่ายกังวลกันว่า การอ่อนค่าเหนือระดับ 35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะเป็น “New Normal” ใหม่ของค่าเงินบาท แต่ในตอนนี้ เห็นได้ชัดว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าแรงแค่ในระยะเวลาบางช่วงที่เศรษฐกิจผันผวนในกรณีที่ไม่ปกติเท่านั้น
ในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2010 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเหนือระดับ 35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เพียง 37 เดือน จากทั้งหมด 180 เดือน หรือคิดเป็นเพียง 20% ของระยะเวลาทั้งหมดเท่านั้น สรุปคือโดยรวม ราว 80% ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยสรุปคือ ในกรณีปกติ เงินบาทมักเคลื่อนไหวในระดับต่ำกว่า 35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็น “Usual Habit” ของค่าเงินบาท และตอนนี้ หมดเวลาอ่อนค่าของค่าเงินบาทแล้ว…