พิชัย ตั้ง “ซูเปอร์บอร์ด” ดันไทยฮับการเงินโลก “เผ่าภูมิ” นั่งประธาน-ผู้ว่าฯ ธปท. กรรมการ

พิชัยออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมาย เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน ให้ “เผ่าภูมิ” นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ ขณะที่ผู้ว่าฯ ธปท. รวมถึงผู้บริหารหน่วยงานเกี่ยวข้องอีกกว่า 20 หน่วยงาน เป็นกรรมการ

วันที่ 5 ตุลาคม 2567 รายงานจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงินขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ของโลก

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub จำเป็นต้องพิจารณาแนวทางในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ Financial Hub ที่เหมาะสม การให้สิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวก และการพัฒนาสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ด้านต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการเป็น Financial Hub ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหลายฉบับ

โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน มีองค์ประกอบคือ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เป็นประธานกรรมการ, ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการ

ขณะที่กรรมการประกอบด้วย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), อธิบดีกรมการกงสุล, อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า,

อธิบดีกรมสรรพากร, ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO), ประธานสมาคมธนาคารไทย, ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, ประธานสมาคมธนาคารนานาชาติ, นายกสมาคมประกันชีวิตไทย, นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย, นายกสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย, ประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย, ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์, นายพงษ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ, นายศุภกร คงสมจิตต์, นายฉัตริน จันทร์หอม, นายวรวิทย์ เรืองปิตาภรณ์ และนางสาวเบญจ สุพรรณกุล

ADVERTISMENT

ขณะที่ที่ปรึกษาหรือรองผู้อำนวยการ สศค. ที่ผู้อำนวยการ สศค. มอบหมาย จะทำหน้าที่เลขานุการ และมีผู้ช่วยเลขานุการ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกองนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน, ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเงิน กองนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน และผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์และพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ กองนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงินของ สศค.

โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

ADVERTISMENT

1.ศึกษา เสนอแนะ และจัดทำนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน และยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง นำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

2.เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ

3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

4.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมาย