หุ้นกู้ Q4 จ่อครบดีล 2.12 แสนล้าน ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต.แล้วกว่า 1 แสนล้าน

อสังหาริมทรัพย์

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เผย 9 เดือนแรกปี 2567 ยอดออกหุ้นกู้ลดลง 14% เหลือ 7.04 แสนล้าน บริษัทใหญ่ชะลอออกหุ้นกู้ รอดอกเบี้ยลด ล็อกต้นทุนกู้ยืมต่ำลง ไฮยีลด์หดตัวหนัก 59% โรลโอเวอร์ยากตลาดไม่เอื้อ หุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ 1.8 พันล้าน ไม่กระทบวงกว้าง ไตรมาส 4 หุ้นกู้จ่อครบดีล 2.12 แสนล้าน สิ้นปียังลุ้นแตะ 9 แสนล้าน ถึง 1 ล้านล้าน ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. ออกขายแล้วกว่า 1 แสนล้าน ด้านต้นทุนกู้ยืมลดลงแล้ว 14-25 bps คาดไตรมาส 4 บอนด์ยีลด์ลง 5-10 bps มองฟันด์โฟลว์มีโอกาสไหลเข้าต่อ ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง ธ.ค. มั่นใจปี 2568 ตลาดหุ้นกู้คึกคัก ครบดีล 8.8 แสนล้าน

ยอดออกหุ้นกู้ 9 เดือน 7.04 แสนล้าน ลดลง 14%

วันที่ 9 ตุลาคม 2567 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) มีมูลค่า 4.7 ล้านล้านบาท ปรับตัวลดลง 2.8% เมื่อเทียบจากสิ้นปี 2566 ที่มีมูลค่าคงค้าง 4.84 ล้านล้านบาท โดยลดลงจากทั้งหุ้นกู้ระยะสั้น (อายุการออกไม่เกิน 270 วัน) และหุ้นกู้ระยะยาว (อายุการออกมากกว่า 270 วันขึ้นไป)

โดยมูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาว 9 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 704,153 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 14% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่มียอดการออก 818,89 ล้านบาท โดยกลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) มียอดการออก 664,457 ล้านบาท ลดลง 8% YOY จากที่มีการออก 722,627 ล้านบาท และกลุ่มเสี่ยงสูง (High Yield) มียอดการออก 39,697 ล้านบาท ลดลง 59% YOY จากที่มีการออก 96,266 ล้านบาท โดย 3 เซ็กเตอร์ที่มีการออกหุ้นกู้มากที่สุดคือ ไฟแนนซ์, อสังหาริมทรัพย์, พลังงาน

บริษัทใหญ่ชะลอออกหุ้นกู้ รอดอกเบี้ยลง ไฮยีลด์โรลโอเวอร์ยาก

อย่างไรก็ตาม ยอดการออกหุ้นกู้ที่ปรับตัวลดลง 14% หากเทียบกับยอดครบกำหนดในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ 669,006 ล้านบาท สะท้อนถึงการออกหุ้นกู้ยังออกมากกว่ายอดครบกำหนดอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เปรี้ยงปร้างเพราะบริษัทผู้ออกอาจไม่ได้ออกวงเงินเกินกว่าปกติเหมือนในอดีตที่ภาวะตลาดและดอกเบี้ยเอื้ออำนวย

โดยบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งแม้ออกหุ้นกู้ได้ก็จริง แต่มองไปในปี 2568 เห็นจังหวะดอกเบี้ยเป็นขาลง ทำให้บางบริษัทตัดสินใจชะลอการออกหุ้นกู้ เพื่อจะได้ต้นทุนกู้ยืมต่ำลง เช่น กลุ่ม ปตท. และเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อธนาคารในบางจังหวะต้นทุนถูกกว่า ประกอบกับผู้ออกในกลุ่ม High Yield ที่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ถือว่ายังเจอสภาวะตลาดที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย ทำให้มีปัญหาการโรลโอเวอร์ไม่ครบ บางบริษัทโรลโอเวอร์ได้แค่ 50-60% หรือบางรายต้องเลื่อนการออกไปเลย โดยหันไปพึ่งสินเชื่อธนาคาร ใช้การเพิ่มทุน เงินกู้ยืมกรรมการบริษัท หรือใช้กระแสเงินสดจากแหล่งอื่น ๆ เข้ามาแทน

“เราเห็นว่ายอดการออกหุ้นกู้กลุ่ม Investment Grade ยังสามารถโรลโอเวอร์ได้ครบอยู่ แต่วงเงินการออกใหม่น้อยลง ยกเว้นกลุ่มผู้ออก AAA มียอดครบกำหนด 83,608 ล้านบาท แต่ออกใหม่แค่ 58,956 ล้านบาท ส่วนที่กระทบมากคือกลุ่ม High Yield ยอดการออกหุ้นกู้ลดลงทุกเครดิต”

ADVERTISMENT

ผิดนัดชำระ 1.8 พันล้าน ไม่กระทบวงกว้าง

นางสาวอริยากล่าวถึงสถานการณ์ของหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ (Default) ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ว่า มีอยู่ประมาณ 4 บริษัท จำนวน 7 รุ่น ซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทขนาดเล็กและไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย (Nonlisted Company) มีมูลค่ารวมประมาณ 1,876 ล้านบาท ถ้าเทียบกับปี 2566 ที่มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ 22 รุ่น จากผู้ออก 5 บริษัท มูลค่ารวม 16,363 ล้านบาท เพราะฉะนั้นจะไม่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม จะมีหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระหนี้ จำนวน 12 บริษัท มูลค่ารวม 26,890 ล้านบาท จำนวน 24 รุ่น ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว โดยปี 2566 มีหุ้นกู้ขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้ 37 รุ่น จากผู้ออก 14 บริษัท มูลค่ารวม 12,443 ล้านบาท โดยปีนี้มูลค่าการเลื่อนกำหนดชำระของหุ้นกู้ ITD และ EA จะคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของมูลค่าหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระทั้งหมด

ADVERTISMENT

“เชื่อว่าหากภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะดีขึ้นในปี 2568 จะทำให้หลายบริษัทมีกระแสเงินสดกลับเข้ามา ผลประกอบการดีขึ้น ซึ่งจะทำให้การจัดหาสภาพคล่องจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นของหุ้นกู้น่าจะปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน” นางสาวอริยากล่าว

ไตรมาส 4 ครบดีล 2.12 แสนล้าน สิ้นปีลุ้น 1 ล้านล้าน

นางสาวอริยากล่าวต่อว่า สำหรับในช่วงไตรมาส 4/2567 (ต.ค.-ธ.ค.) จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดอีก 212,194 ล้านบาท แยกเป็นหุ้นกู้ Investment Grade จำนวน 188,777 ล้านบาท สัดส่วน 89% และหุ้นกู้ High Yield อีก 23,417 ล้านบาท สัดส่วน 11% โดยเซ็กเตอร์หลักที่จะครบกำหนดสูงสุดคือ ไฟแนนซ์, อสังหาริมทรัพย์ และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทในกลุ่ม Investment Grade จึงไม่น่ากังวลมากนัก ประเมินกลุ่มเรตติ้ง A ขึ้นไปไม่น่ามีปัญหาในโรลโอเวอร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ขณะที่กลุ่ม High Yield ในกลุ่มบริษัทขนาดเล็ก ชื่อเสียงยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับมากนัก คงจะพึ่งการโรลโอเวอร์ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทเหล่านี้มีการเตรียมแผนสำรองไว้แล้ว

ทั้งนี้ สมาคมยังคงประมาณการยอดการออกหุ้นกู้ในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 900,000-1,000,000 ล้านบาท เนื่องจากมียอดครบกำหนดในไตรมาสสุดท้ายอีก 2.12 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมหุ้นกู้ Perpetual Bond ของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ที่จะเสนอขายในเดือน พ.ย.-ธ.ค.และหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนของ CIMBT อีกด้วย ซึ่งขณะนี้มีบริษัทยื่นไฟลิ่งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมออกขายหุ้นกู้แล้วรวมวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

ปี 2568 คาดตลาดหุ้นกู้คึกคัก ครบดีล 8.8 แสนล้าน

ส่วนในปี 2568 จะมีหุ้นกู้ครบกำหนด 889,962 ล้านบาท แยกเป็นหุ้นกู้ Investment Grade จำนวน 760,173 ล้านบาท สัดส่วน 85% และหุ้นกู้ High Yield อีก 129,788 ล้านบาท สัดส่วน 15% โดยเซ็กเตอร์หลักที่จะครบกำหนดสูงสุดคือ ไฟแนนซ์, อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน ทั้งนี้ประเมินสถานการณ์ในปีหน้าจากภาพทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาลง ประกอบกับถ้าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าสัญญาณการออกหุ้นกู้จะมีความคึกคักมากขึ้น

”ในปีหน้าเราอยากทำให้ตลาดหุ้นกู้เป็นปีแห่ง Quality โดยเราจะทำให้หุ้นกู้ที่ออกขายในตลาด ในเรื่องของข้อกำหนดสิทธิที่กำลังจัดทำอยู่เป็นรูปเป็นร่างและออกมาบังคับใช้ได้จริง เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่จะเอาเปรียบนักลงทุน จึงไม่เน้นปริมาณยอดการออกมากนัก แต่ก็เชื่อว่าน่าจะคึกคักตามภาวะดอกเบี้ยขาลง“

ต้นทุนกู้ยืมลดลง 14-25 bps

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการและผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ด้านต้นทุนการกู้ยืมของหุ้นกู้อายุ 5 ปี ของผู้ออก AAA และ AA ปรับตัวลดลง 14 bps และ 25 bps ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond Yield) ที่ลดลง 22 bps จากสิ้นปี 2566 โดยสิ้นไตรมาส 3/2567 บอนด์ยีลด์รุ่นอายุ 2 ปี, 5 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 2.14%, 2.23% และ 2.48% ตามลำดับ

ขณะที่อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ของผู้ออก A, BBB+ และ BBB ปรับตัวลดลงน้อยกว่าบอนด์ยีลด์ไทย ซึ่งสะท้อนถึงส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Spread) ที่สูงขึ้น จากการระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกู้กลุ่มดังกล่าวของนักลงทุน โดยสิ้นไตรมาส 3/2567 หุ้นกู้กลุ่ม AAA, AA, A, BBB+ และ BBB มีอัตราผลตอบแทนเท่ากับ 2.97%, 3.06%, 3.44%, 4.53% และ 5.49% ตามลำดับ

คาด กนง.ลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง ธ.ค.

สำหรับการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากผลสำรวจของผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง 0.25% ในรอบการประชุมวันที่ 18 ธ.ค. และคาดการณ์บอนด์ยีลด์ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี จะขยับตัวลงในไตรมาส 4/2567 เฉลี่ยราว 5-10 bps มาอยู่ที่ 2.16% และ 2.45% ตามลำดับ ในช่วงสิ้นปีนี้

โดยปัจจัยสำคัญต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ในอนาคตมาจาก 1.ทิศทางดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ โดย Fed Watch Tool คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยอีก 0.50% ในรอบการประชุม 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ มาอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% และปี 2568 คาดว่าจะลดอีก 0.75-1.00% มาอยู่ที่ 3.25-3.75% (ข้อมูลเมื่อวันที่ 6 ต.ค.) 2.ทิศทางดอกเบี้ยไทย และ 3.กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์)

เชื่อฟันด์โฟลว์มีโอกาสไหลเข้า

ดร.สมจินต์กล่าวอีกว่า สถานการณ์ฟันด์โฟลว์ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ เป็นการขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทย 6,902 ล้านบาท โดย 2 ไตรมาสแรกขายสุทธิรวม 65,463 ล้านบาท แต่ในไตรมาส 3 พลิกกลับมาซื้อสุทธิ 58,561 ล้านบาท ภายหลังการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่แสดงถึงการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจ และนำมาสู่การลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือน ก.ย. ที่ระดับ 0.50% และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีคาดการณ์ว่ากระแสฟันด์โฟลว์ยังมีแนวโน้มไหลเข้าได้ต่อเนื่องตามทิศทางดอกเบี้ยขาลง

“หลังเฟดลดดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน ก.ย. เราเห็นเม็ดเงินเริ่มไหลออกจากตลาดพันธบัตรสหรัฐ กระจายไปสู่ตลาดประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยเฉพาะในไทยและอาเซียน ซึ่งประเทศไทยมีไทมิ่งที่ดีจากการได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสเห็นฟันด์โฟลว์เข้ามาได้ต่อเนื่องตามภาวะเฟดลดดอกเบี้ย”