การคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีอันต้องเลื่อนจากวันที่ 8 ต.ค. โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการระบุว่า มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วน สำหรับการพิจารณาของที่ประชุม
จึงขอขยายระยะเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกมีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกโดยเร็ว
โดย “สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” ประธานคณะกรรมการคัดเลือกกล่าวว่า การเลื่อนประชุมเป็นไปตามที่ ธปท.แจ้ง ส่วนจะประชุมได้เมื่อใดนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ต้องรอฝ่ายเลขานุการนัดหมายอีกที
อย่างไรก็ดี การที่ต้องเลื่อนประชุมคัดเลือกในวันดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นหลังจากมี “เสียงต่อต้าน” อย่างหนักหน่วง ทั้งจากอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ทั้งจากอดีตกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) บางราย และจาก “ลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน” ที่พาเหรดกันออกมาคัดค้านการเสนอชื่อ “ฝ่ายการเมือง” เข้าไปเป็นประธานแบงก์ชาติ ต่อจาก “ปรเมธี วิมลศิริ” ที่สิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รายชื่อแคนดิเดตประธานกรรมการแบงก์ชาติได้รับการยืนยันว่า เป็นไปตามที่มีข่าวออกมา คือ กระทรวงการคลังเสนอ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ขณะเดียวกัน ชื่อที่เสนอโดยฝั่ง ธปท. ก็มีชื่อของนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ส่วนอีกชื่อก็คือ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ว่างลง 2 ตำแหน่ง เนื่องจากนายมนัส แจ่มเวหา และนายนนทิกร กาญจนะจิตรา หมดวาระลง มีการเสนอชื่อ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
เนื่องจากการเสนอประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น ตามกฎหมายกำหนดให้กระทรวงการคลังเสนอได้ 1 เท่า และ ธปท. เสนอได้ 2 เท่า ในกรณีนี้ก็คือ กระทรวงการคลัง เสนอชื่อประธานกรรมการ 1 ชื่อ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ชื่อ รวมเป็น 3 ชื่อ ขณะที่ ธปท.เสนอได้ 6 ชื่อ ประกอบด้วย ประธาน 2 ชื่อ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 ชื่อ
โดยคณะกรรมการคัดเลือกจะประชุมเพื่อคัดเลือก เมื่อได้ผู้ที่เหมาะสมแล้ว ประธานกรรมการคัดเลือกจะเสนอรายชื่อประธานกรรมการแบงก์ชาติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนาม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เมื่อ ครม.เห็นชอบ ก็จะทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ส่วนกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามแต่งตั้ง ก็จะมีผลทันที
อย่างไรก็ดี จากข้อท้วงติงต่าง ๆ ที่ประดังเข้ามา จะเป็นแรงกดดันต่อคณะกรรมการคัดเลือกอย่างแน่นอน และจากการที่ต้องเลื่อนการคัดเลือกออกมา จากวันที่ 8 ต.ค. เป็นวันที่ 16 ต.ค.นี้ ก็สะท้อนได้ว่า “เสียงต่อต้าน” สร้างแรงกระเพื่อมไม่น้อย
ที่สุดแล้ว คงต้องวัดใจ 7 อรหันต์ คณะกรรมการคัดเลือก คือ นายสถิตย์, นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร, นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี, นายวรวิทย์ จำปีรัตน์, นายอัชพร จารุจินดา, นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา และนายสุทธิพล ทวีชัยการ
ซึ่งคำตอบสุดท้าย อาจจะเฉลยออกมาเป็น “ชื่อทางเลือกที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย” และในจุดนี้ต้องบอกว่า ชื่อของ “กุลิศ สมบัติศิริ” กำลังมาแรงเลยทีเดียว