คลังจ่อเอาผิด “ดิไอคอน” งัดกฎหมายอาญา ม.341-342 หากเข้าข่ายฉ้อโกง

พิชัย ชุณหวชิร
พิชัย ชุณหวชิร

พิชัย รมว.คลัง รับลูกนายกฯ แก้ปัญหาธุรกิจขายตรง “ดิไอคอนกรุ๊ป” งัดประมวลกฎหมายอาญา ม.341-342 เอาผิด หากฉ้อโกงประชาชน ย้ำคลังจะรอดูผลการสอบสวน นำมาพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย

วันที่ 15 ตุลาคม 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีการดำเนินคดีกับธุรกิจขายตรง บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ว่า ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการกำชับให้กระทรวงการคลังดูแล และเข้าไปตรวจสอบ และกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการทำธุรกิจลักษณะแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้น

โดยกระทรวงการคลังจะเข้าไปดูว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 341-342 ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ ส่วนกฎหมายที่เคยออกไว้และเข้าข่ายในลักษณะเช่นนี้ ได้มีการออกกฎหมายไว้เมื่อปี 2527 คือ พระราชกำหนดกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งต้องดูว่าเข้าลักษณะ 3 ประการ คือ

1.เป็นการโฆษณา ให้บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปรับรู้

2.จ่ายผลตอบแทนที่สูงกว่า หากมีลักษณะการกู้ยืมเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่สถาบันการเงินคิด

3.เข้าเงื่อนไขการนำเงินจากคนอื่น เพื่อมาจ่ายหมุนเวียนให้กับผู้ที่ให้การกู้ยืม และกิจการที่ประกอบนั้น ชอบด้วยกฎหมาย และผลประโยชน์ที่ได้จากการประกอบการมีเพียงพอที่สามารถนำมาจ่ายได้

Advertisment

ทั้งนี้ จะต้องดูว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะพิจารณา โดยทางกระทรวงการคลังจะติดตามว่า การแก้ไขจะมีผลอย่างไร เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ดีขึ้น

วันเดียวกัน (15 ต.ค. 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าสืบเนื่องจากที่เกิดกรณีที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ จากการขายตรงและสินค้าออนไลน์ (The iCon Group) เรื่องดังกล่าวได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดให้มีช่องทางที่ประชาชนจะสามารถเข้าแจ้งเรื่องของเบาะแสและการแจ้งความได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

Advertisment

และสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เร่งกำหนดมาตรการและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงให้ความรู้กับประชาชนด้วย เพราะบางคนเข้ามาในธุรกิจนี้แต่ไม่ทราบว่าการขายตรงต้องมีอะไร อย่างไรบ้าง จะได้ไม่เกิดปัญหาต่อไป ป้องกันไม่ให้มีการหลอกลวงเช่นนี้ขึ้นอีก

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองมาวางจำหน่ายในระบบขายตรงหรือออนไลน์ และสั่งการให้กระทรวงการคลังเข้าไปตรวจสอบ และกำหนดมาตรการ เพื่อไม่ให้เกิดการทำธุรกิจในลักษณะแชร์ลูกโซ่

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องดิไอคอนบานปลายถึงขั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปรู้เห็นรับส่วย รับสินบน ทำให้ธุรกิจที่หลอกลวงประชาชนยังอยู่ เพราะผู้บริหารดิไอคอนก็ยอมรับเองว่ามีการจ่ายส่วย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้มีการพูดคุยกับพลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น ต้องมีการสอบสวนต่อว่ามีใครเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกับ ผบ.ตร.แล้ว ต้องการให้ทางตำรวจจริงจังเรื่องนี้ และในทางคดีต้องดูว่าทางกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ จะเข้ามาช่วยด้วยหรือไม่ และหากเข้ามาช่วยก็จะได้ทำงานร่วมกับตำรวจเพื่อให้คดีมีความละเอียดและดียิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนที่มีข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐรับส่วยนั้น ได้พูดคุยกับทาง ผบ.ตร.ไปแล้ว ขอให้จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะไม่อยากให้มีผู้เสียหายเพิ่มเติม

เมื่อถามว่า มีข้อกล่าวหาว่ามีเทวดาใน สคบ. ซึ่งถือว่าเป็นจุดหลักที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่ได้ จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในกรอบกว้าง ๆ เราก็ไม่อยากให้ธุรกิจในลักษณะหลอกลวงประชาชนเกิดขึ้นอีก เราจะเห็นได้ว่ามีผู้ได้รับความเสียหายมากกว่าที่คิดไว้เยอะ เพราะฉะนั้นต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงได้สั่งการไปยังทุกฝ่ายแล้วให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเร็วที่สุด และให้แถลงผลการดำเนินงานต่อประชาชนด้วย เพื่อให้เกิดความสบายใจ เพื่อที่ต่อไปการทำธุรกิจเราจะได้มีข้อมูลและการป้องกันไม่ให้ถูกหลอก

เมื่อถามถึงคลิปเสียงที่หลุดมาพัวพันไปถึงนักการเมือง ซึ่งสามารถวิ่งเต้นเพื่อไม่ให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้สั่งการแล้ว