ชง 5 ข้อผ่อนเกณฑ์ออก ICO ลดภาษีหนุนสตาร์ตอัพระดมทุน-ผู้ลงทุน

“ไอโคร่า” บริษัทที่ปรึกษา ICO ชง 5 ข้อเสนอให้ ก.ล.ต. หวังภาครัฐปรับเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นหนุนสตาร์ตอัพระดมทุน แนะให้อำนาจ ICO portal ตรวจสอบ ICO ช่วยลดภาระ ก.ล.ต. เผยปัจจุบันมี 10 บริษัทในมือสนใจทำ ICO

นางสาวการดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไอโคร่า จำกัด กล่าวว่า จากที่ขณะนี้เป็นช่วงที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัล (ICO) ซึ่งในฐานะที่บริษัทไอโคร่า เป็นบริษัทที่ปรึกษาในการทำ ICO อยู่ จึงอยากเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ 5 ข้อด้วยกัน

ได้แก่ 1) กรณีที่จะมีการเก็บภาษีจากผลกำไรส่วนต่างจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล (capital gain) จากผู้ลงทุนด้วยการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% นั้น ควรปรับอัตราลดลงให้เหมาะสม เพราะอัตราที่กำหนดสูงเกินไป เมื่อเทียบกับการเก็บภาษี capital gain ในการลงทุนประเภทอื่น ส่วนการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากนิติบุคคลจากการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว

2) เงินที่ได้จากการออก ICO ระดมทุนมา ควรเปิดโอกาสให้ใช้เม็ดเงินดังกล่าวได้ตามแผนดำเนินงานที่บริษัทผู้ระดมทุนวางไว้ ซึ่งจะมีระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 18 เดือน ถึง 2 ปี แต่เกณฑ์ของภาครัฐจำกัดให้ใช้เม็ดเงินที่ระดมมาให้หมดภายใน 1 ปี ถือว่าสั้นเกินไปกว่าแผนงานที่บริษัทด้านดิจิทัลวางไว้ ทั้งนี้ เม็ดเงินที่ระดมทุนมาที่จะถูกบันทึกเป็น “รายได้” ซึ่งก็มีข้อดี คือ มีรูปแบบการบันทึกแบบ refer revenue คือคำนวณตามรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง

3) อยากให้ลดกระบวนการขั้นตอนการออก ICO ให้สั้นลง จากปัจจุบันมักจะใช้พื้นฐานมาจาก IPO (initial public offering) หรือการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้กระบวนการและระยะเวลาในการเกิด ICO มีราคาสูง และใช้ระยะเวลานาน ในขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ที่ต้องการทำ ICO มักเป็นสตาร์ตอัพ หรือบริษัทขนาดเล็ก ทำให้บริษัทเหล่านี้มีอุปสรรคเพิ่มขึ้น ต่างจากการ IPO ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีความสามารถและต้นทุนเพียงพอที่จะดำเนินตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้

4) เสนอให้เกณฑ์การ ICO ทั้งฝั่งนักลงทุนและบริษัทผู้ออก ICO มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว และ 5) เสนอให้ ICO portal (ตัวกลางในการทำ ICO) ที่ได้รับการอนุญาตจาก ก.ล.ต.สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการทำ ICO ได้ เพราะหากกระบวนการทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ที่ ก.ล.ต.อย่างเดียว อาจทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการทำ ICO แต่ละราย ซึ่งในต่างประเทศล้วนมี ICO portal ทำหน้าที่นี้แทนทั้งสิ้น

นางสาวการดีกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีบริษัทในไทยเข้ามาพูดคุยกับทางไอโคร่า แสดงความสนใจที่จะทำ ICO กว่า 10 บริษัท โดยแต่ละรายมีความต้องการระดุมเงินทุนเฉลี่ยที่ 20-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/บริษัท ซึ่งมีทั้งบริษัทที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจฟินเทค ที่จะทำธุรกิจปล่อยกู้ระหว่างบุคคล (peer to peer lending), ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น