ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังนักลงทุนคาด โดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ขณะที่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.41/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/10) ที่ระดับ 33.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/10) ที่ระดับ 33.16/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในวันศุกร์ (18/10) ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ในวันศุกร์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวหนุนตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นทั่วโลกให้พุ่งขึ้น
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากการที่ราคาทองพุ่งขึ้น 27.70 ดอลลาร์สหรัฐ สู่ 2,720.25 ดอลลาร์/ออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์
ทั้งนี้ ราคาทองได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ความไม่แน่นอนในผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. และการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางต่าง ๆ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อไป
นอกจากนี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตากล่าวว่า เฟดควรมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างช้า ๆ สู่ระดับระหว่าง 3-3.5% ภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อให้ถึงเป้าหมายที่ 2% ในเวลานั้น และยังช่วยป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
ดอลลาร์แข็งค่า คาดทรัมป์ชนะเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี ในระหว่างวันนี้ (21/10) ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากการคาดการณ์ที่ว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันอาจจะชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 5 พ.ย. และมีแนวโน้มที่จะยังคงแข็งค่าขึ้นต่อไปในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
เพราะว่านโยบายด้านภาษีเงินได้และภาษีศุลกากรของนายทรัมป์มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป และนโยบายของเขาจะสร้างความเสียหายต่อสกุลเงินของประเทศคู่ค้าของสหรัฐ
สำหรับปัจจัยภายในภูมิภาค ในช่วงบ่ายวันนี้ (21/10) ทางการจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) ระยะหนึ่งปีลง 0.25% สู่ 3.10% ในวันนี้ จากเดิมที่ 3.35% และประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ระยะ 5 ปีลง 0.25% สู่ 3.6% ในวันนี้ จากเดิมที่ 3.85%
โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ดังกล่าวถือเป็นการปรับลดครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. และถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามความคาดหมายในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยรายเดือน หลังจากจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอันอื่น ๆ ลงไปแล้วในเดือน ก.ย. โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน
ทั้งนี้ ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.10-33.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.41/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
เงินเฟ้อยูโรสู่ระดับเป้าหมาย
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/10) ที่ระดับ 1.0865/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/10) ที่ระดับ 1.0843/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้เปิดเผยผลสำรวจนักคาดการณ์ผู้เชี่ยวชาญออกมาเมื่อวันศุกร์ (18/10) ที่ผ่านมา
ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนจะอยู่ที่ 1.9% ในปีหน้า โดยปรับลดลงจากระดับ 2% ที่เคยคาดไว้เมื่อสามเดือนก่อน และผลสำรวจคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงทรงตัวอยู่ที่ 1.9% ในปี 2026 ด้วย ซึ่งเท่ากับว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับคืนสู่ระดับเป้าหมายที่อีซีบีตั้งไว้ที่ 2% ได้ในเวลาที่เร็วเกินกว่าที่คาดการณ์กันไว้ และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวอยู่ที่ระดับนี้ต่อไปในระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ ผลสำรวจคาดว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 20 ประเทศจะอยู่ที่ 2.0% ในปี 2029 ซึ่งเท่ากับระดับเป้าหมายที่อีซีบีตั้งไว้ โดยในปัจจุบันนักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 20% ที่อีซีบีอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ 2.75% ในการประชุมวันที่ 12 ธ.ค. และมีโอกาส 80% ที่อีซีบีอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 3.00% ในการประชุมวันที่ 12 ธ.ค.
และหลังจากนั้น อีซีบีก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อไปในการประชุมวันที่ 30 ม.ค. 2025, 6 มี.ค. 2025, 17 เม.ย. 2025 และ 5 มิ.ย. 2025 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับราว 2.00% ในเดือน มิ.ย.ปีหน้า ทั้งนี้ในระหว่างวัน ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0845-1.0872 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0848/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
บีโอเจไม่รีบร้อนขึ้นดอกเบี้ย
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/10) ที่ระดับ 149.38/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/10) ที่ระดับ 149.94/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ
โดยเมื่อวันศุกร์ (18/10) ที่ผ่านมา นายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า บีโอเจจำเป็นจะต้องมุ่งความสนใจไปยังผลกระทบที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น อาจได้รับจากตลาดที่ไร้เสถียรภาพและความเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยถ้อยแถลงนี้ของเขาบ่งชี้ว่า บีโอเจจะยังไม่รีบร้อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ นายอุเอดะได้กล่าวเสริมว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวขึ้นปานกลาง และมีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นจะเร่งตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับเป้าหมายที่บีโอเจตั้งไว้ที่ 2%
อย่างไรก็ดี นายอุเอดะกล่าวเตือนว่า แนวโน้มในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก และเขากล่าวย้ำว่า มีความจำเป็นที่จะต้องจับตามองผลกระทบที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับจากความผันผวนของตลาด
นอกจากนี้ ผลโพลล์ล่าสุดจากสำนักข่าวเกียวโดเผยว่า คะแนนนิยมรัฐบาลของชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ลดลงเหลือ 41.4% ขณะที่ผู้ไม่สนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 40.4% ช่องว่างระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้ไม่สนับสนุนจึงแคบลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับโพลล์เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ซึ่งคะแนนนิยมครั้งนั้นอยู่ที่ 42% และคะแนนไม่สนับสนุนอยู่ที่ 36.7%
โดยในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.07-149.98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.03/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ต.ค. ของยูโรโซน (24/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการขั้นต้นเดือน ต.ค.ของยูโรโซน (24/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ต.ค. ของสหราชอาณาจักร (24/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการขั้นต้นเดือน ต.ค. ของสหราชอาณาจักร (24/10),
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการขั้นต้นเดือน ต.ค. ของสหรัฐ (24/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (24/10), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเขตโตเกียวของญี่ปุ่น (25/10), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (25/10), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนของสหรัฐ (25/10), ว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (24/10), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเขตโตเกียวของญี่ปุ่น (25/10), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (25/10), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนของสหรัฐ (25/10), ดัชนีอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์จากสถาบัน MI ของสหรัฐ (25/10)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.40/-7.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.80/-4.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ