HSBC ชูบริการดึงต่างชาติตั้ง “IHQ” ในไทย

HSBC สบช่องขยายฐานลูกค้ารายใหญ่ในไทย ดึงบริษัทข้ามชาติตั้ง IHQ ในไทย ป้อนพร้อมเพย์ลูกค้าคอร์ปอเรต จับตาเพิ่มแพลตฟอร์มบนมือถือ ชูบริหารสภาพคล่อง เร่งศึกษาฟินเทค ลั่นร่วมวง ธปท. ลุยโครงการ “อินทนนท์” ทำคริปโทเคอร์เรนซี

นางสาวไอ เชน ลิม ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายจัดการด้านการเงินและบริหารสภาพคล่อง ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย (HSBC) เปิดเผยว่า จากการสนับสนุนของรัฐบาลที่จะผลักดันไทยเป็น digital hub (ศูนย์กลางดิจิทัล) ของภูมิภาคอาเซียน จะสอดคล้องไปกับกลยุทธ์ของธนาคารที่สนับสนุนให้ลูกค้าสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายแพลตฟอร์มระดับโลกได้

โดย HSBC มีบริการการจัดตั้ง IHQ (international head quarter) เพื่อสนับสนุนลูกค้าที่จะทำธุรกรรมข้ามประเทศ เช่น บริษัทต่างชาติที่มีการค้า การลงทุนกับประเทศไทยและอาเซียน หากเข้ามาจัดตั้ง IHQ ในไทย เพื่อรองรับการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในไทย จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และความรู้ความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น เช่น ลูกค้าของธนาคาร ชื่อบริษัท โอเฟียร์ เอเชีย เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นบริษัทของอังกฤษที่เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย

นอกจากนี้ ฐานลูกค้ารายใหญ่ที่ทำธุรกิจข้ามชาติ ต้องมีการบริหารสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ ทาง HSBC จึงได้ตั้งเป้าหมาย 3 ส่วน ได้แก่ 1.บริการ global liquidity management ให้ลูกค้าบริหารสภาพคล่องทั่วโลก โดยปัจจุบันทางธนาคารสร้างระบบที่ชื่อว่า GLE ให้ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ใช้ในการบริหารจัดการด้านการเงินทั่วโลก

ในขณะเดียวกัน ทางธนาคารขยายพร้อมเพย์ระหว่างกลุ่มธุรกิจรายใหญ่กับลูกค้า ซึ่งในอนาคตเครือข่ายพร้อมเพย์นี้จะสามารถรองรับการทำธุรกรรมการเงินในอาเซียน นอกจากนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการออกบริการใหม่เพื่อให้ลูกค้าธุรกิจรายใหญ่สามารถบริหารสภาพคล่อง และบริหารเงินทุนหมุนเวียน (working capital management) ทั้งในและต่างประเทศ ผ่าน mobile payment collection (ระบบการชำระเงินและการเรียกเก็บผ่านมือถือ) ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการทำงานภายในองค์กรมีประสิทธิภาพขึ้น เช่น ลดจำนวนวันลูกค้าค้างชำระ ฯลฯ

“เป้าหมายหลักของเรา คือการเป็น international bank of choose ที่จะสร้างบริการใหม่ ๆ และเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า และพัฒนาตลาดไปพร้อม ๆ กัน ถ้าเราตอบโจทย์ลูกค้าได้ ฐานลูกค้าก็จะขยายขึ้น และส่งผลให้ธุรกิจเติบโตขึ้นด้วย เราจึงไม่เน้นเรื่องเป้าหมายรายได้ค่าธรรมเนียม แต่เน้นเรื่องการบริการที่จะให้ลูกค้าก่อน” นางสาวไอ เชน ลิม กล่าว

สำหรับความคืบหน้าด้านพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ในไทย ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการศึกษาเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น API (application programming interface) blockchain AI (ปัญญาประดิษฐ์) ซึ่งจะสร้างนวัตกรรมและส่งการเข้าร่วมทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (regulatory sandbox) ของ ธปท.

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารได้เข้าร่วมโครงการอินทนนท์ของ ธปท. ซึ่งเป็นการศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชน ในการสร้างสกุลเงินดิจิทัล (digital currency) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองหาข้อสรุปของแนวคิด (proof of concept) โดยรูปแบบเทคโนโลยีนี้มีความคล้ายคลึงกับโครงการอูบิน (Ubin) ของธนาคารกลางสิงคโปร์ที่ทดลองและศึกษาเทคโนโลยีนี้ถึงเฟส 3 แล้ว