คลัง ร่วม DSI สรุปคดี “ดิไอคอน” เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ หรือไม่ ชี้ผิดฉ้อโกงต้องเข้า 3 เงื่อนไข

ภาพจาก : มติชน

คลังพร้อมร่วม DSI สรุปคดีธุรกิจ “ดิไอคอน” เข้าข่าย “แชร์ลูกโซ่” หรือไม่ ชี้ผิดฉ้อโกงต้องเข้า 3 เงื่อนไข พร้อมเร่งเดินหน้ารื้อกฎหมายให้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุด

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่าอยู่ระหว่างรอความเห็นจาก สศค. เพื่อพิจารณาคดีผู้บริหาร ดิ ไอคอน กรุ๊ป ว่าเข้าข่ายความผิดตาม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 (แชร์ลูกโซ่) หรือไม่

รวมถึงขอความร่วมมือให้กระทรวงการคลังส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมอยู่ในคณะสอบสวนคดีดังกล่าวด้วย ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องพิจารณาในรายละเอียดทั้งหมดตามข้อมูลต่าง ๆ และต้องอยู่บนข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในส่วนของ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

ADVERTISMENT

โดยในส่วนนี้ มีเงื่อนไขสำคัญพร้อมกันในการพิจารณาอยู่ 3 ประการ ประกอบด้วย

1.การโฆษณาชวนเชื่อเป็นจำนวนเท่าไร

2.การกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือไม่

ADVERTISMENT

3.ไม่ได้ประกอบอาชีพการซื้อขายจริง แต่นำเงินมาจากที่อื่นมาจ่ายให้กับผู้เสียหาย

“การพิจารณาว่ามีความผิดเข้าข่ายกฎหมายฉ้อโกง หรือพิจารณาว่าเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่นั้น ต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ประการ ซึ่งส่วนนี้ สศค.จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ น่าเชื่อถือ และมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ไปช่วย DSI ตรวจสอบด้วย เพื่อทำงานร่วมกัน ซึ่งยืนยันว่า สศค.ยินดีที่จะเข้าไปช่วยดูแลเรื่องนี้ให้กับรัฐบาล” นายพรชัยกล่าว

ADVERTISMENT

สำหรับการเอาผิดแม่ข่ายระดับกลางไปจนถึงระดับล่างนั้น นายพรชัยยอมรับว่าปัจจุบันการทำธุรกิจมีรูปแบบใหม่เกิดมามากขึ้น มีความซ้ำซ้อนมากขึ้น แต่ตัว พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2527 หรือ 40 ปีมาแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวน แก้ไขตัวบทกฎหมายกันใหม่เพื่อให้ทันสมับ ครอบคลุม และสอดคล้องทันสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น สามารถปฏิบัติได้จริงอย่างทันท่วงที ในการดูแลผู้เสียหายได้อย่างสูงที่สุด

นายพรชัยกล่าวว่า ที่สำคัญ สศค.ยังอยู่ระหว่างร่วมกับกฤษฎีกาในการพิจารณาทบทวน พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 เพื่อให้เป็นปัจจุบันและทันสมัยขึ้นตามนโยบายของ รมว.คลัง เนื่องจากขณะนี้รูปแบบการทำธุรกิจมีความซ้ำซ้อนมากขึ้น หลังจากใช้มานานแล้วกว่า 40 ปี รวมถึงจะดูถึงความเหมาะสมในการให้หน่วยงานไหนเป็นคนกำกับดูแลอีกด้วย