รพี สุจริตกุล เลขาฯ ก.ล.ต. ICO โอกาสแฟนพันธุ์แท้-ความเสี่ยงคนโลภ

แม้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 14 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา แต่ในทางปฏิบัติสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลยังต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อที่จะนำไปสู่การออกประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับเกียรติจาก “รพี สุจริตกุล” เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่อง “สินทรัพย์ดิจิทัล” ในทุกมิติ

ตลาดของแฟนพันธุ์แท้

เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. เปิดประเด็นว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นตลาดของ “แฟนพันธุ์แท้” ไม่ใช่ตลาดของคนทั่วไป เป็นการระดมทุนของ new startup เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างเงินได้อย่างมหาศาลด้วยการทำลายธุรกิจดั้งเดิม หรืออาจจะเจ๊งก็ได้

“คนจะเข้ามาลงทุนหรือระดมทุน ต้องเข้าใจ 2 ระดับคือ ส่วนแรกเข้าใจในตัวเทคโนโลยี กับอีกส่วนคือ เข้าใจว่าทำไมเทคโนโลยีนี้ถึงจะทำเงินได้ ฉะนั้นจึงเป็นตลาดของแฟนพันธุ์แท้เหมือนตลาดพระเครื่อง ตลาดจตุคาม ตลาดรถคลาสสิก คนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้จริง ๆ จะสามารถทำเงินได้ และไม่กลัวการเสียเงิน เพราะรู้ว่าเขาทำอะไรอยู่”

ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มคนที่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้อยาก “กระโดด” เข้ามา เพราะเห็นว่าทำเงิน หรือเก็งกำไรได้ จึงเป็นเหตุผลที่รัฐต้องมีการ “กำกับดูแล” โดยออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อปกป้องคนในวงกว้างไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง

พยากรณ์ยาก “ปัง” หรือ “พัง”

ทั้งนี้ ก.ล.ต.มักถูกถามว่า ICO (initial coin offering) จะเข้ามาทดแทนรูปแบบ IPO หรือไม่ ต้องบอกว่ายังไม่มีใครตอบตรงนี้ได้ แต่หากตลาด ICO ขาดความน่าเชื่อถือ ผู้เล่นไม่มีมาตรฐานเข้ามาหลอกเอาเงินอย่างเดียว ตลาดก็อาจพังแบบ “ระเบิดจากข้างใน” แล้วก็เสื่อมลงไปได้ แต่หากสามารถสร้างความน่าเชื่อถือก็สามารถเติบโตขึ้นได้ แต่ยังไม่มีใครในโลกนี้ตอบได้ว่า ตลาดนี้จะยั่งยืนหรือไม่

กระแสเรื่อง ICO หรือคริปโทเคอร์เรนซี ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นที่กำลังเกิดขึ้น และจะปั่นป่วนโลกอย่างมากในระยะ 3-5 ปีนี้

“ธุรกิจนี้มันฟู่ฟ่า เหมือนเปิดเป๊ปซี่ แต่จะหายฟู่หรือเปล่าไม่รู้ จึงอยากให้เข้าใจว่ามันเป็นตลาดของแฟนพันธุ์แท้ ที่ในที่สุดอาจไม่ได้ใหญ่โตมโหฬาร อาจเป็นตลาดที่ทำลายตัวเองก็ได้ หรืออาจเป็นตลาดที่ maturity แล้วทำให้คนมาใช้กระบวนการตรงนี้มากขึ้น จนในที่สุดอาจจะเทกโอเวอร์ตลาดทุนก็เป็นได้”

โอกาสเริ่มธุรกิจของคนไอเดียบรรเจิด

เลขาธิการ ก.ล.ต.มองว่า ตลาดนี้ยังต้องพิสูจน์ตัวเอง แต่คนก็สนใจอยากเข้ามามาก เพราะนักลงทุนที่เข้าใจเทคโนโลยีมองว่าคุ้มที่จะเสี่ยง ถ้าสำเร็จก็จะได้หลายเท่า ส่วนผู้ระดมทุนก็สามารถนำไอเดียมาขาย ระดมทุนจากประชาชนได้โดยตรง

“เมื่อการระดมทุนรูปแบบ ICO เกิดขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่ไอเดียบรรเจิดมาก เพราะมีช่องทางระดมทุน จากเดิมที่ต้องเป็นทาสแบงก์ ติดอยู่กับระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งแบงก์ ธุรกิจมีแต่ไอเดียก็ไปไม่ได้ แต่พอมีตรงนี้สตาร์ตอัพก็มองว่า เหมือนมีพระเจ้ามาโปรด สามารถนำไอเดียไปหาแฟนพันธุ์แท้มาร่วมลงทุน แล้วจะได้รวยไปด้วยกัน หรือไม่ก็เจ๊งไปด้วยกัน”

ยึดแนวทางกำกับดูแลคล้าย “หุ้น”

สำหรับการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หลักการไม่ได้เปลี่ยนไปจากการกำกับดูแลเรื่องหุ้น เมื่อมีการระดมทุนจากประชาชน ก็ต้องมีการระบุตัวตนของผู้ระดมทุน ต้องมีการให้ข้อมูล แล้วบอกว่านำเงินของที่ระดมทุนไปทำอะไร

ประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ ก.ล.ต.จะกำกับดูแล ได้แก่ ประเภทแรก “โทเคนเพื่อการลงทุน” คือสิทธิในการร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการ ซึ่งต่างจากหุ้นหรือหุ้นกู้คือ โทเคนประเภทนี้เป็นสัญญาแบบฟรีฟอร์ม (ไร้รูปแบบ) ไม่เหมือนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นจะได้สิทธิเข้าไปบริหาร หรือมีสิทธิออกเสียงในบริษัท และมีสิทธิได้รับเงินปันผล แต่สัญญาของโทเคนขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ระดมทุนกับผู้ลงทุน หรือ “ไวต์เปเปอร์”

เช่น ไม่มีสิทธิออกเสียง หรืออาจตกลงแบ่งกำไรให้ในปีที่ 4 ของการลงทุน อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาไม่ทำตามข้อตกลงก็ต้องไปดำเนินการฟ้องร้องกันเอง

“ฝั่งผู้ระดมทุนมีความยืดหยุ่นได้มาก การไปลงทุนในสตาร์ตอัพใหม่อาจเจ๊งก็ได้ เพราะเงินต้องเอาไปลงทุนเทคโนโลยีหมด ขณะที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่รู้ว่าอีก 6 เดือนจะเปลี่ยนอย่างไร จึงเป็นกระบวนการขายฝันอย่างหนึ่ง”

สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทที่สอง คือ utility token สิทธิในการได้รับสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง เช่น สิทธิได้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูก เป็นต้น และประเภทที่สาม คือ cryptocurrency สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สิทธิอื่น ๆ อย่างบิตคอยน์ เป็นต้น โดยที่ ก.ล.ต.เข้าไปกำกับในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่บริษัทที่ออกโทเคนหรือขาย ICO, ผู้ให้บริการเสนอขาย, ศูนย์ซื้อขายหรือตลาดรองแลกเปลี่ยน และผู้ลงทุนในโทเคน เพื่อช่วยยืนยันตัวตน

ห้ามฝรั่งระดมทุน-ดึงมือดีช่วยปรู๊ฟโครงการ

“รพี” บอกอีกว่า การระดมทุนต้องมีการยืนยันตัวตนเหมือนกับหุ้น โดยกำหนดว่าต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือ “ห้ามฝรั่ง” (บริษัทต่างชาติ) มาระดมทุน เป็นนโยบายกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้ตลาดนี้เป็นการลงทุนสตาร์ตอัพไทยเท่านั้นรวมทั้งขั้นตอนการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการที่จะระดมทุน โดย ก.ล.ต.มีการดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ อาทิ นายธีรนันท์ ศรีหงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย, ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านความมั่นคงปลอดภัย เป็นต้น มาช่วยดู proof of concept ว่าเป็นไอเดียที่ไม่เพ้อฝันจนทำไม่ได้

“มีสถิติไอเดียสตาร์ตอัพทั่วโลก 95% คือเจ๊ง ดังนั้นแม้เรามีทีมช่วยดูความเป็นไปได้ของธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ลดความเสี่ยงที่จะเจ๊งลงไปแต่อย่างใด”

ด้านการกำกับดูแลในอนาคตมีโอกาสเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น กฎหมายที่เขียนไว้ก็เหมือนเป็นการ “สร้างโครงบ้าน” ไว้ แต่สามารถรีโนเวตได้ตลอด

“การกำหนดเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นแบบ ลองผิดลองถูกเพราะเป็นของใหม่ เราก็ต้องมีกระบวนการที่ค่อย ๆ ปรับ ถ้าเข้มเกินไปอาจทำให้ตลาดไม่เกิด คนก็จะเอาเงินไปนอกประเทศ หรือลงใต้ดิน ถ้าแบบนั้นก็จะมีคำถามว่า มี ก.ล.ต.เอาไว้ทำไม”

ประกาศเกณฑ์กำกับก่อนสิ้น มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็น “แนวทางการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” วันที่ 16-30 พ.ค.ที่ผ่านมา จากนี้จะสรุปข้อคิดเห็นเพื่อมาปรับปรุง และน่าจะออกประกาศหลักเกณฑ์ทั้งหมดก่อนสิ้นเดือน มิ.ย.นี้


จากภาพทั้งหมดนี้ เลขาฯ ก.ล.ต. ย้ำว่า การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.เป็นการยกระดับมาตรฐานเพื่อกำกับดูแล ลดการหลอกลวง การโกงที่อาจเกิดขึ้น แต่ความเสี่ยงต่าง ๆ จากการลงทุนก็ยังอยู่ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้มากก็คือ “การเตือน” หรือการให้ความรู้แก่นักลงทุนนั่นเอง