“หุ้นไอพีโอ” โค้งท้ายลุ้นแรงหนุน คาดยักษ์ค้าปลีกคัมแบ็กระดมทุนปีหน้า

IPO

บล.หยวนต้า คาดหุ้นไอพีโอคึกท้ายปี’67 รับแรงซื้อกองทุน “วายุภักษ์-TESG” หนุนสภาพคล่อง-จำกัดดาวน์ไซด์ตลาดจากผลกระทบเลือกตั้งสหรัฐ คาดตลาดหุ้นไทย Outperform ภูมิภาคแรงหนุนจีดีพี Q3 โต 3% เผยยักษ์ค้าปลีก “บิ๊กซี-สยามพิวรรธน์” จ่อคัมแบ็กปี’68 รับปัจจัยบวกมาตรการกระตุ้นบริโภค-เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ฟาก “บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์” มองหุ้น IPO น่าลงทุน-สภาพคล่องตลาดดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) การเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหุ้นไทย มีทั้งสิ้น 27 บริษัท มูลค่าการระดมทุน 17,858 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาไอพีโอ 102,873 ล้านบาท

มีหุ้นที่ราคาปิดวันแรกยืนเหนือจอง 20 บริษัท และต่ำจอง 7 บริษัท โดยหุ้นให้ผลตอบแทนสูงสุด คือ LTS, APO ADVICE, OKJ, SEI (ตามลำดับ) และหุ้นให้ผลตอบแทนต่ำสุด คือ PANEL, NL, STX, EURO, BPS จากราคาหุ้นปิดวันที่ 31 ต.ค. 2567 (ดูตาราง)

กราฟฟิก หุ้นไอพีโอ

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ทำให้หุ้นไอพีโอกลับมาคึกคักอีกครั้ง หุ้นที่เข้าจดทะเบียนส่วนใหญ่ยืนเหนือจองได้

โดยเฉพาะที่เป็นอุตสาหกรรม New S-Curve อาทิ ธุรกิจการแพทย์, ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ หุ้นที่กำหนดอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (PE) ไม่แพง ก็ให้ผลตอบแทนได้ค่อนข้างดีเช่นกัน

Advertisment

“หุ้นที่ยืนหยัดเหนือจองไปได้ตลอดนั้น จะขึ้นอยู่กับภาพผลประกอบการเป็นสำคัญ ภาพระยะสั้นนักลงทุนจะติดตาม PE ว่าถูกหรือแพง หลังจากเข้าตลาดไปแล้ว หากแพงเกินไป ก็จะเห็นแรงขาย เพื่อปรับต้นทุน โดยนักลงทุนที่อยากได้หุ้น แต่ไม่มีสิทธิจองซื้อ ก็ต้องการซื้อในตลาด

ขณะที่นักลงทุนที่ได้สิทธิจองซื้อก็ขายทำกำไรออกไป ซึ่งถ้าเกิดแรงขายมากกว่า ก็อาจทำให้ราคายุบตัวลง อย่างไรก็ดี ถ้าผลประกอบการดีตามที่บริษัทไกด์ไลน์ไว้ตั้งแต่ตอนเข้าตลาดหุ้น หลายบริษัทราคาหุ้นก็จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาและสามารถทำนิวไฮได้ ส่วนหุ้นบางบริษัทที่เปิดราคากระโดดขึ้นไปและถอยลงเร็วนั้น

Advertisment

เป็นเพราะราคาหุ้นแพงเกินไป ซึ่งเดี๋ยวนี้นักลงทุนเก่ง คำนวณ PE ได้ ดูงบฯกระแสเงินสด อัตราส่วนทางการเงิน ได้ละเอียดขึ้น ทำให้การตั้งราคา IPO แพง ๆ จะไม่ค่อยเห็นแล้ว ส่วนใหญ่กำหนดแบบมีส่วนลดให้กับนักลงทุน โดยเทียบกับอุตสาหกรรมที่เทรดกันอยู่”

นายณัฐพลกล่าวว่า ภาพตลาดหุ้นไทยช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2567 มองดัชนี SET แนวรับที่ 1,420-1,430 จุด แนวต้านที่ 1,500 จุด สิ้นปีคาดอยู่ที่ 1,450 จุด และปี 2568 จะอยู่ที่ 1,600 จุด โดยการเลือกตั้งสหรัฐ วันที่ 5 พ.ย.นี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะไปต่อหรือพักแค่นี้ หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งอาจทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกพักลงมาก เพราะคนกลัวเรื่องสงครามการค้า และเงินเฟ้อสูง

แต่ตลาดหุ้นไทยอย่างน้อย ๆ จะมีแรงหนุนจากกองทุนวายุภักษ์ และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) ซึ่งรอบนี้คนน่าจะซื้อมากกว่ารอบที่แล้ว เพราะได้สิทธิลดหย่อนเพิ่มจาก 1 แสนบาทเป็น 3 แสนบาทต่อปีภาษี จึงเป็นปัจจัยช่วยจำกัดดาวน์ไซด์ตลาดได้

นอกจากนั้นวันที่ 18 พ.ย. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะประกาศตัวเลขอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 3/2567 ซึ่งคาดว่าจะโต 3% เป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมา Outperform ตลาดหุ้นภูมิภาคได้อีกครั้ง สะท้อนเศรษฐกิจเริ่มฟื้นชัดเจนมากขึ้น เพราะฉะนั้นดัชนี SET จะย่อช่วงต้น พ.ย. แต่กลาง พ.ย. ไปแล้วน่าจะเป็นลักษณะไซด์เวย์อัพกลับขึ้นไปได้

ส่วนแนวโน้มหุ้น IPO ปี 2568 คาดว่ามีโอกาสจะเห็นหุ้นใหญ่ที่ชะลอแผน IPO กลับเข้ามาระดมทุน อาทิ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) หรือบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของห้างสรรพสินค้าหรู เช่น สยามพารากอน, ไอคอนสยาม ที่ก่อนหน้านั้นมีแผนจะ IPO แต่เลื่อนออกไป โดยสองบริษัทนี้เป็นธุรกิจค้าปลีก

ซึ่งได้แรงหนุนโดยตรงจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาล ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเต็มที่ทั้งปี นอกจากนั้นการผลักดันโครงการ Entertainment Complex จะช่วยกระตุ้นกลุ่มห้างสรรพสินค้า เพราะเพิ่มโอกาสให้เข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจเกี่ยวข้องได้ เช่น สยามพิวรรธน์ เคยประกาศสนใจลงทุน เป็นต้น

นอกจากนั้น บมจ.เอสซีจี เคมีคอลส์ (SCGC) ก็มีโอกาสจะกลับมา IPO เช่นกัน เพราะปีหน้าโครงสร้างตลาดปิโตรเคมีจะมีความสมดุลมากขึ้น จากปีนี้ค่อนข้างโอเวอร์ซัพพลาย จึงน่าจะทำให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมาได้

“สำหรับกลยุทธ์ลงทุนหุ้น IPO ต้องให้น้ำหนักเรื่อง Valuation เป็นหลัก พิจารณา Forward PE เทียบกับกำไรในปีหน้า ถ้าไม่แพงก็จองซื้อได้ เพราะเชื่อว่าบรรยากาศตลาดหุ้นไทยได้แรงส่งเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน มีเม็ดเงินวายุภักษ์เหลืออยู่ และกองทุน TESG ช่วยพยุง จึงมองตลาดหุ้นไทย Outperform หนุนการลงทุนหุ้น IPO แต่ต้องเลือกหุ้นในอุตสาหกรรม New S-Curve ส่วนหุ้นกลุ่ม Old Economy หรืออุตสาหกรรมที่เป็นขาลง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ตลาดจะไม่ให้มูลค่ามากนัก”

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า การลงทุนหุ้น IPO ยังมีโอกาส เพราะตอนนี้ตัวแปรสำคัญอย่างสภาพคล่องในตลาดหุ้นเริ่มอยู่ในจังหวะที่ดี แม้จะมีปัจจัยกดดันจากภายนอก แต่ตลาดยังมีสภาพคล่องเสริมจากแรงซื้อกองทุน TESG ทำให้คนมีเงินหมุนเวียนในตลาด และมีเงินนำไปลงทุนซื้อหุ้น IPO ซึ่งการตั้งราคา IPO ในปัจจุบันไม่ได้แพง