ทีทีบี เผยผลหารือมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ชี้ช่วยลูกค้าหนี้เสียเอ็นพีแอล “บ้าน-รถ” ค้างชำระไม่เกิน 360 วัน จ่ายเงินต้น-พักดอกเบี้ย ไม่ให้ถูกยึดสินทรัพย์ เตือนลูกค้าแกล้งป่วยเข้าโครงการ ลั่นผลกระทบข้างเคียงรุนแรง คาดคลัง-ธปท.-TBA ชี้แจงรายละเอียดเร็วๆ นี้
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย (TBA) และสมาชิกธนาคาร ในประเด็นของมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน
โดยเบื้องต้นมาตรการจะเข้าไปช่วยเหลือคนตัวเล็กที่ผ่อนชำระหนี้ไม่ไหวกำลังจะถูกยึดบ้าน ยึดรถ และสถานที่ประกอบการในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งภายใต้นิยามจะต้องมียอดค้างชำระไม่เกิน 360 วัน โดยเงินที่ลูกค้าชำระมาจะนำมาตัดเงินต้นก่อน และดอกเบี้ยจะพักไว้ก่อน หากลูกค้าสามารถทำได้ตามโปรแกรมที่ตกลงไว้ ดอกเบี้ยที่เหลือถูกยกให้
อย่างไรก็ดี สำหรับขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ รวมไปถึงการดูแลในส่วนของรายได้ที่ธนาคารจะสูญเสียไปนั้น จะมีรายละเอียดออกมาหลังจากนี้ ซึ่งทางการก็จะพยายามออกมาให้เร็วที่สุด โดยธปท.จะมีการทำโปรแกรม และกระทรวงการคลังจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทำการอนุมัติต่อไป
ทั้งนี้ ธนาคารในฐานะซีอีโอ สปอนเซอร์เรื่องหนี้ มองว่ามาตรการแก้หนี้ดังกล่าวมี 2 หลักคิด คือ
1.การช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นคนตัวเล็กที่ไม่มีกำลังจะผ่อนชำระ ไม่ได้เป็นโครงการประชานิยม ยกเลิกหนี้ให้แต่ทำให้คนตัวเล็กมีตัวช่วย
และ 2.ต้องตระหนักว่าการเข้ามาตรการดังกล่าวก็จะมีผลกระทบส่วนหนึ่ง คือ จะต้องมีการหยุดก่อหนี้ระยะหนึ่ง และหากไม่สามารถทำได้ก็จะยุติการพักดอกเบี้ย กลับเข้าสู่สถานะการผิดนัดชำระหนี้ตามเดิม โดยมาตรการดังกล่าวคงจะเป็นมาตรการระยะยาวใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี
สำหรับลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์การช่วยเหลือโครงการนี้ จะเห็นว่าแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน อย่างไรก็ดี หากดูตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบธนาคารพาณิชย์มีอยู่ประมาณ 3% ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีลูกหนี้บ้านและรถยนต์ ซึ่งสามารถเข้าโปรแกรมนี้ได้ แต่ยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือดังกล่าวคงไม่ได้ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดลงรวดเร็ว แต่สิ่งที่ธปท.พยายามทำ คือ การนำคนที่มีหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบฐานข้อมูลเครดิตบูโร
“มาตรการนี้เปรียบเหมือนการรักษาคนเป็นมะเร็ง ซึ่งการให้ยาคีโมย่อมมีผลข้างเคียงรุนแรง ผมร่วง แต่ก็มีโอกาสที่คุณจะรอดแล้ว กลับมาใช้ชีวิตหรือทำมาหากินต่อไปได้ แต่อัตราการรอด 80-90% คงไม่ใช่ แต่มองว่า 50-60% เป็นยาที่ดีและแรงพอ แต่ก็ต้องทำใจเช่นกันว่ามีส่วนหนึ่งที่จะกลับมาไม่ไหว เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ถือว่าไม่น้อย
ขณะเดียวกัน กลุ่มที่คิดจะถือโอกาสหยุดชำระหนี้เพื่อให้ได้รับการพักดอกเบี้ย ก็ไม่ควรจะเข้ามา เพราะมีผลข้างเคียงที่ไม่น้อยเช่นกัน หากคนแกล้งป่วยเพื่อเอายานี้ จะมีผลข้างเคียงรุนแรง เพราะจะต้องย่อมถูกคุมประพฤติ ห้ามก่อหนี้เข้มงวดระหว่างเข้าโครงการเช่นกัน”
นายปิติ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนในแง่ผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารนั้น มองว่า ไม่ได้กระทบกับธนาคารในเชิงลบ เพราะหากธนาคารไม่ช่วยลูกหนี้ธนาคารก็แย่เช่นกัน จึงเป็นมาตรการ Win-Win โดยที่ผ่านมาธนาคารได้มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนกลุ่มสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2 : SM) ก็มีกลไกการบริหารจัดการดูแลอยู่แล้ว
ขณะที่ภาพรวมหนี้เสียของระบบมีแนวโน้มแย่ลง แต่จะเห็นว่าสถานการณ์เริ่มนิ่งขึ้น และอัตราการไหลเป็นหนี้เสียเริ่มชะลอตัว ซึ่งหากมีมาตรการแก้หนี้เข้ามาช่วยเสริมเชื่อว่าสถานการณ์หนี้เสียน่าจะเริ่มดีขึ้นได้
“สภาพหนี้ตอนที่เกิดในช่วงการระบาดของโควิด-19 เป็นการจับหนี้แช่แข็งไว้ เมื่อพ้นโควิดหนี้ก็เริ่มทยอยไหลออกมา ดังนั้น สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันถือว่าหนักแล้ว เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาช่วยกัน เพื่อไม่ให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่านี้ เพราะตอนนี้เมื่อหนี้มีปัญหามากเข้า ธนาคารเองก็ต้องเข้มงวดในการปล่อยกู้ ก็วนกลับไปสู่ธุรกิจและระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีเงินไปหมุนเวียนต่อเนื่อง“