สรรพากรผนึกสมาคมแบงก์ ต่อท่อ “เช็ก” รายได้ผู้เสียภาษี

“เอกนิติ” อธิบดีสรรพากรคนใหม่ประกาศนโยบายเร่งด่วน คลอด “ภาษีอีบิสซิเนส” ชง ครม.คงแวต 7% สัปดาห์หน้า พร้อมวางยุทธศาสตร์ดึงเทคโนโลยี “บิ๊กดาต้า-AI” เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี จับมือสมาคมแบงก์ต่อท่อส่องข้อมูลพิสูจน์รายได้แท้จริงผู้เสียภาษี ประกาศเดินหน้า “เช็กบิล” ผู้ตรวจสอบบัญชีเอื้อเลี่ยงภาษี

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในงานมอบนโยบายด้านการบริหารจัดเก็บภาษีของสรรพากรครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลาย เม.ย.ที่ผ่านมาว่า นโยบายเร่งด่วนที่กรมสรรพากรต้องเร่งทำในปีนี้มี 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องการขยายเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้คงอยู่ที่ 7% ต่อไป หลังจะครบกำหนดลดแวตในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการทำข้อมูลเพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้หากไม่ทันก็อาจต้องเสนอในสัปดาห์ถัดไป

โดยการเสนอให้คงแวตที่ 7% ต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่อยู่ในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แวตในปัจจุบันจึงเป็นระดับที่เหมาะสมที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่จังหวะในการเร่งขึ้นแวตในเวลานี้

เร่งคลอด “ภาษีอีบิสซิเนส”

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า อีกเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการให้มีข้อสรุปคือกฎหมายภาษีอีบิสซิเนส ที่ขณะนี้มีความไม่เป็นธรรมค่อนข้างมาก ระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ เพราะผู้ประกอบการต่างประเทศบางรายไม่ได้เสียภาษีที่ถูกต้อง และมีความได้เปรียบผู้ประกอบการไทย ดังนั้นสรรพากรต้องเร่งทำให้เกิดความชัดเจน โดยจะนำความเห็นการทำประชาพิจารณ์ครั้งก่อน ๆ มาปรับใช้ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การแก้กฎหมาย หรือการออกกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

“ในการประชาพิจารณ์จัดเก็บภาษีอีบิสซิเนส คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ต้องเอาความคิดเห็นต่าง ๆ มาปรับ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์ใหม่ เพราะหากจะรอให้คนเห็นด้วยกฎหมายก็คงไม่เกิด ซึ่งจะเร่งให้เสร็จภายในปีนี้” นายเอกนิติกล่าว

นอกจากนี้ นโยบายภาษีที่ต้องเร่งดำเนินการให้มีความชัดเจนในปีนี้ คือ “ภาษีข้ามชาติ” เนื่องจากปัจจุบันมีคนต่างชาติจำนวนมากที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบการเสียภาษีของชาวต่างชาติ สิ่งที่ต้องทำคือการจับมือกับหน่วยงานข้ามชาติเพื่อทำภาษีระหว่างประเทศ ซึ่งต้องเร่งทำให้เกิดความชัดเจนภายในปีนี้เช่นกัน

ผนึกสมาคมแบงก์ดูดข้อมูล

นายเอกนิติกล่าวว่า เป้าหมายการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 1.86 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย ส่วนเป้าจัดเก็บภาษีปี 2562 ภาครัฐต้องการเห็นการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านบาท

วันนี้เศรษฐกิจกำลังเป็นขาขึ้นก็จะช่วยหนุนให้ฐานภาษีข้างหน้าเติบโตดีขึ้น เช่นฐานภาษีนิติบุคคลน่าจะดีขึ้น สำหรับเป้าปีหน้า 2 ล้านล้านบาท รับมาก็ต้องทำให้ได้ เพราะเชื่อว่าหากนำดาต้ามาจับเป้านี้ก็สามารถทำได้

นายเอกนิติกล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายการทำงานของสรรพากรในปีนี้ ตั้งใจจะยกระดับและปรับเปลี่ยนให้เป็นสรรพากรดิจิทัล การนำดาต้าสารสนเทศมาใช้จะช่วยเพิ่มฐานการจัดเก็บภาษี และบริการประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่น ๆ เพื่อช่วยตรวจสอบการเสียภาษีได้ง่ายมากขึ้น จากปัจจุบันสรรพากรมีการเชื่อมโยงข้อมูลรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ เช่น การจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟต่าง ๆ จากนี้ไปจะมีการจับมือกับพันธมิตรอื่น ๆ เช่น สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯลฯ เพื่อเชื่อมโยงนำดาต้าจากพันธมิตรเหล่านี้เพื่อใช้ฐานข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่การพิสูจน์รายได้ที่แท้จริง ซึ่งคาดว่าจะเห็นการนำระบบดาต้ามาใช้กับการจัดการภาษีที่สมบูรณ์ภาย 1 ปีหลังจากนี้

“ไม่เพียงแค่การนำ data analytics มาใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษีเท่านั้น แต่สรรพากรตั้งเป้าจะนำ AI มาใช้วิเคราะห์ และติดตาม ตรวจสอบภาษีในอนาคตด้วย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้สรรพากรสามารถมีข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น และรู้ได้ทันทีว่าคนไหนเสียภาษีถูกต้อง และคนไหนตั้งใจหลบเลี่ยงภาษี เพื่อนำกลุ่มนี้มาจัดการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำระบบ AI เข้ามาช่วยบริหารภาษีได้ภายในปี 2563”

เช็กบิล “ผู้สอบบัญชี”

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า การมีดาต้าและ AI จะเข้ามาช่วยยกระดับการจัดเก็บภาษีให้กับประเทศได้ โดยวันนี้สิ่งที่สรรพากรต้องสนับสนุนคือ การให้บริการที่ดีกับคนดี ต้องมีระบบคืนภาษีที่เร็ว ลดขั้นตอนซับซ้อนสำหรับคนที่เสียภาษีถูกต้อง แต่คนไม่ดีต้องจัดการให้เด็ดขาด ต้องลงโทษตามกฎหมายไม่มียกเว้น เป็นนโยบายที่ฝากไปกับกรมสรรพากรทั่วประเทศ

นอกจากนี้ นโยบายของสรรพากรยังสนับสนุนให้คนยื่นภาษี ทำบัญชีชุดเดียว เพราะที่ผ่านมามีกฎหมายกำหนดชัดเจนว่าตั้งแต่ ม.ค. 2562

ผู้ประกอบการต้องทำบัญชีชุดเดียวกันในการยื่นเสียภาษี และยื่นขอสินเชื่อแบงก์ ซึ่งนโยบายนี้สรรพากรจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น สภาวิชาชีพทางบัญชี ผู้สอบบัญชีทั้งหลาย เพื่อทำให้การจัดเก็บภาษี และการวางระบบภาษีมีประสิทธิภาพขึ้น เพราะสมัยก่อนกลุ่มผู้ทำบัญชีเหล่านี้ เป็นอีกกลุ่มที่ช่วยผู้ประกอบการเลี่ยงภาษี ดังนั้นสรรพากรก็จะคัดผู้ตรวจสอบบัญชีที่ดีและไม่ดี เพราะหากเป็นกลุ่มที่ช่วยเลี่ยงภาษี สรรพากรก็จะดำเนินการเอาผิดเช่นเดียวกัน