ดอลลาร์ทรงตัว จับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงการประชุมของเฟด วันที่ 6-7 พ.ย.นี้
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/11) ที่ระดับ 33.84/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/11) ที่ระดับ 33.90/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยเมื่อวันศุกร์ (1/11) สหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างานนอกภาคเกษตรโดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 12,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 เป็นผลมาจากภาวะชะงักงันที่เกิดจากพายุเฮอร์ริเคน และการประท้วงหยุดงานของคนงานโรงงานผลิตเครื่องบิน
อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานยังคงทรงตัวที่ 4.1% ซึ่งบ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐ ยังคงแข็งแกร่ง โดยหลัก ๆ นักลงทุนจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 5 พ.ย. รวมถึงการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 6-7 พ.ย. ซึ่งข้อมูลจาก Fed Watch Tool ของ CMB ชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.5-4.75%
อย่างไรก็ดีทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐในระยะถัดไปยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง โดยคงขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาระหว่างทางเป็นสำคัญ ซึ่งผลสำรวจจาก The New York Times มีความเห็นว่า คะแนนเสียงระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ และคามาลา แฮร์ริส นั้นเป็นไปอย่างสูสี
หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งและสามารถรองเสียงข้างมากทั้งสภาบนและสภาล่าง (Republican Sweep) มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อสหรัฐ จะเร่งสูงขึ้นจากมาตรการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าและมาตรการกีดกันแรงงานอพยพซึ่งอาจส่งผลให้เฟดอาจไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้เท่าที่ควรในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2568
อีกทั้งสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 46.5 ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2566 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 47.6 ทั้งนี้ ดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7
ขณะที่เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48.5 ในเดือน ต.ค. จากระดับ 47.3 ในเดือน ก.ย. โดยได้รับผลกระทบจากการลดลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานอันเนื่องจากพายุเฮอร์ริเคน
สำหรับปัจจัยในประเทศ นายเผ่าภูมิ (รมช.คลัง)กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/47 ขยายตัวได้สูงกว่า 4% หรืออยู่ในช่วง 4.0-4.5% และ ส่งผลให้ทั้งปี GDP เติบโต 2.7-2.9% จากปัจจัยที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นผ่านโครงการ 10,000 บาท อีกทั้งกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการว่าในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 3.0% โดยได้รับจากปัจจัยบวก 4 ด้านหลักคือ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.9% การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 3.1% ต่อปี จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวน 39.0 ล้านคน การบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ 2.2% การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี
โดยเป็นการขยายตัวเร่งตัวขึ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ และการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.7% ต่อปี จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและการเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยมีปัญหา เพราะต่ำกว่าเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนปัจจัยในภูมิภาค นายเชิ่ง ชิวผิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยในวันนี้ (4/11) ว่าจีนจะเปิดตัวกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคชุดใหม่ใน 5 มณฑลใหญ่ในเดือน พ.ย. และนโยบายใหม่ที่มุ่งส่งเสริมการใช้จ่ายของผู้บริโค ADVERTISEMENT โดยระบุว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการเปิดตัวสินค้าและบริการใหม่ (debut economy) เสริมความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีก และส่งเสริมโครงการนำร่องสำหรับระบบการค้าสมัยใหม่
ระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.73-33.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/11) ที่ระดับ 1.0876/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/11) ที่ระดับ 1.0856/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด เนื่องจากในวันศุกร์ (1/11) ที่ผ่านมาเป็นวันหยุดของสถาบันการเงินของหลายประเทศในสหภาพยุโรป
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่มีการเปิดเผยในวันนี้ (4/11) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของฝรั่งเศสประจำเดือนตุลาคมออกมาที่ระดับ 44.5 เท่ากับคาดการณ์ และไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า สำหรับตัวเลขขณะเดียวกันของเยอรมนี ออกมาที่ระดับ 43.0 สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 42.6 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้า โดยค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 4.0857-1.0904 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0896/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/11) ที่ระดับ 152.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (01/11) ที่ระดบ 152.79/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยไร้ปัจจัยสนับสนุนใหม่ เนื่องจากวันนี้เป็นวันวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น โดยในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.59-153.02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.92/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการเดือน ต.ค. (5/11), ดัชนี PMI ภาคการบริการจากสถาบันไอเอสเอ็ม (ISM) เดือน ต.ค. (5/11), สินค้าคงคลังน้ำมันดิบ (6/11), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (7/11), สินค้าคงคลังในกิจการค้าปลีกไม่รวมธุรกิจยานยนต์เดือน ก.ย. (7/11), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนเดือน พ.ย. (8/11), แถลงการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (8/11)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.60/-6.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.40/-3.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ