“กอบศักดิ์” เปิด 4 ประเด็น เตือนรับมือเทรนด์การเงินโลก

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

“มี 3-4 ประเด็นที่อย่างน้อย นักลงทุนควรจะเข้าใจ เพื่อเตรียมการสำหรับช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ และเตรียมการสำหรับจัดพอร์ตการลงทุนในปีถัดไป” ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวในการแถลงข่าวของ FETCO เมื่อเร็ว ๆ นี้

โดย ดร.กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า ตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมา ถือว่าปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ จากที่เคยเป็นตลาดทุนที่รั้งท้าย ช่วงนี้ก็ดีขึ้น โดยจะเห็นว่าในเดือน ส.ค. 2567 ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยบวก 1.2% ซึ่งดีกว่าหลาย ๆ ประเทศที่ติดลบ และภาพตั้งแต่ต้นปีมา (YTD) ก็พลิกจากติดลบมาบวกที่ 3.5%

ล่าสุด เดือน ต.ค. มูลค่าซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอ หลังจากที่พลิกเป็นบวก 28,904 ล้านบาทในเดือน ก.ย. แต่โดยรวมก็ถือว่า ตลาดเริ่มนิ่งขึ้นมาก

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ การลงทุนในระยะต่อไป จะมี “จุดเปลี่ยนสำคัญ” 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1.การลดดอกเบี้ย ทั้งต่างประเทศและในประเทศไทย 2.เรื่องความผันผวนของตลาดการเงินโลก 3.การเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งจะมีนัยอย่างมาก และ 4.วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีน

“การลดดอกเบี้ย จะนำมาซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจะนำมาถึงเรื่องของราคาสินทรัพย์ที่จะไปได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ Performance ของตลาด ยอดขาย กำไรต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่จะนำมาซึ่ง Asset Bubble ในระยะต่อไป

ผมว่านี่เป็นธีมใหญ่ที่นักลงทุนจะต้องเข้าใจ ขณะเดียวกันเรื่องเมืองจีนก็มีความสำคัญ และนัยของประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐ กับเรื่องเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งด้านการค้า ด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงสงคราม และเอเชียที่ยังจะเป็นเป้าหมายการลงทุนสำคัญ”

ADVERTISMENT

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างเรื่องของเงินเฟ้อ ก็ได้จบลงไปแล้ว โดยโลกกำลังเข้าสู่บทใหม่ว่าด้วยเรื่อง “การลดดอกเบี้ยเพื่อฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง” ซึ่งจะเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเทรนด์จะเกิดขึ้นประมาณ 1 ปีครึ่ง จนถึงปลายปีหน้า

ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยรวม 1% ตลอดปีนี้ และคาดว่าปีหน้าจะลดอีก 1% หลังจากนั้นก็จะลดให้เข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 0.75-3%

ADVERTISMENT

“ตั้งแต่กลางปีนี้ จนถึงปลายปีหน้า ก็ถือว่าเป็นการลดดอกเบี้ย 1 ปีครึ่ง ซึ่งการที่ทุกคนทยอยลดดอกเบี้ย จะเหมือนกับเสียงคอรัส อังกฤษลด สหภาพยุโรป (อียู) ลด สหรัฐลด ละตินอเมริกาลด ออสเตรเลียลด ประเทศในเอเชียลด จะกลายเป็นเสียงที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุก ๆ คน ว่ากระบวนการการกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังดำเนินอยู่ แล้วทั้งหมดนี้จะเป็น Backdrop ของการลงทุนในช่วงปีครึ่งข้างหน้า นี่คือหัวใจที่อยากให้ทุกคนเห็นภาพ”

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ คือ เพื่อให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แต่การฟื้นตัว อาจจะดูค่อนข้างช้า ต้องใช้เวลา โดยดูจากดัชนี PMI หลายประเทศที่ยังทรงตัว เพราะคนยังไม่ค่อยมั่นใจ ซึ่งตนตีความว่าเป็นผลจากการที่ดอกเบี้ยสูงมาระยะเวลาหนึ่ง และทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจนชะลอตัว

อย่างไรก็ดี การลดดอกเบี้ยจะไม่ได้ส่งผลในทันที แต่จะต้องใช้เวลาราว 6 เดือนถึง 1 ปี ระหว่างนั้นเศรษฐกิจโลกอาจจะสามวันดีสี่วันไข้ แต่ไม่ต้องกังวล

“ตัวเศรษฐกิจจะยังชะลอไปอีกสักระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวก็จะมีคนพูดถึง Recession (เศรษฐกิจถดถอย) ก็อย่าไปกังวลใจ เพราะการเกิด Recession ในช่วงที่ลดดอกเบี้ย เป็นช่วงที่จัดการ Recession ได้ดีที่สุด สามารถลดดอกเบี้ยให้เร็วขึ้นได้ เรียกได้ว่า เป็น Recession ที่ตื้นและสั้น

จะต่างจากเกิด Recession ในช่วงที่กำลังขึ้นดอกเบี้ย เพื่อจัดการเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในช่วง Turning Point จะสามวันดีสี่วันไข้อยู่บ้าง แต่รวม ๆ แล้วจะกำลังฟื้น เหมือนคนไข้กำลังจะออกจากไอซียู นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ากำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตาม คือ “Asset Bubble” หรือ “ฟองสบู่สินทรัพย์” โดยดัชนีหุ้นดาวน์โจนส์ และแนสแดค ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดเวลาในช่วงนี้ ก็ต้องถามว่าจะขึ้นไปอีกแค่ไหน เพราะทุกคนก็กังวลใจ

รวมถึงราคาทองคำที่พุ่งแรง หรือแม้กระทั่งบิตคอยน์ ที่กลับไปแตะนิวไฮ และมีแนวโน้มว่า หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง ก็จะยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมีการประกาศไว้ว่าจะทำให้สหรัฐเป็นเมืองหลวงของสินทรัพย์ดิจิทัล

“ที่น่ากังวลใจ คือ สินทรัพย์ทุกตัว กำลังขึ้นไป แล้วทำนิวไฮอย่างต่อเนื่อง เพราะมีสภาพคล่องจำนวนมาก ที่อยู่ในระบบ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ทำให้สินทรัพย์ต่าง ๆ ขึ้นไป ลองคิดดูว่า ใน 2-3 ปีข้างหน้า ยังไงสภาพคล่องก็ไม่มีวันกลับมาเป็นปกติ

ก็หมายความว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้น กำลังลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง จะมีสภาพคล่องจำนวนมากที่หาทางไปไม่ได้ ต้องวิ่งหาสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น ธนาคารกลางก็จะหนักใจมากขึ้น”

ขณะที่เรื่องความผันผวนของการเงินโลก จะค่อย ๆ นิ่งลง ซึ่งต้องรอดูสัญญาณเฟดที่จะออกมาด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาการเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งชัยชนะของแต่ละฝั่งจะให้ผลต่างกัน และจะมีผลกำหนดแนวโน้มการลงทุนสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ในปีหน้าด้วย

ส่วนวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีน สัญญาณต่าง ๆ ชี้ไปว่า ยังไม่จบรอบ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลกลางคงต้องตัดสินใจว่าจะเคลียร์หนี้เสียในระบบอย่างไร และหากรัฐบาลเข้ามาจัดการ ตรงนั้นจะเป็นจุดต่ำสุดของวิกฤต และจะฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน แต่หากไม่เคลียร์ ก็ทำได้ แต่จะเป็นเหมือนญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และเศรษฐกิจไม่เติบโตเป็นเวลานาน

ดร.กอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า ส่วนเศรษฐกิจไทย ตนไม่ค่อยกังวลมาก เพราะโดยรวมเข้าสู่ช่วงการค่อย ๆ ฟื้นตัวแล้ว และจะได้รับการซัพพอร์ตจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวด้วย ทั้งนี้ สิ่งที่กังวลมีแค่ 2 อย่าง คือ หนี้ครัวเรือน กับเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากจีน

“ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ถ้าดูผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ก็ถือว่าดี แบงก์ก็ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยรวมก็ดี เศรษฐกิจภาพรวมก็อยู่ในช่วงฟื้น ส่งออกก็กลับมาเป็นปกติ บริโภคก็ทรง ๆ ไปได้ดีระดับหนึ่ง ตัวลงทุนก็ฟื้นขึ้นมา นักท่องเที่ยวก็กลับมา

เหลือเฉพาะการผลิตที่ยังขึ้น ๆ ลง ๆ ภาพรวมปีนี้ก็คงต่ำกว่า 3% ลงมานิดหน่อย ส่วนปีหน้าทุกคนก็พูดว่า 3% นิดหน่อย ดังนั้นไม่ต้องห่วงเรื่อง Macro”