ใกล้คลอดเต็มแก่แล้ว สำหรับมาตรการแก้ปัญหาหนี้ “บ้าน-รถยนต์” ให้แก่ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระไม่ไหว ตามแนวทางที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ได้ประชุมหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย มาระยะหนึ่งแล้ว
ล่าสุด สมาคมธนาคารไทย ออกสเตตเมนต์ยืนยันว่า อยู่ระหว่างเตรียมมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดภาระทางการเงินเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ กลุ่มที่เป็น “ลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก”
โดยโฟกัสช่วยเหลือ ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่สูงและประสบปัญหาในการชำระหนี้
ซึ่งจะใช้แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ ที่จะช่วยลดภาระการผ่อนชำระต่องวดอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่เข้าร่วมมาตรการ โดยผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น และพักชำระดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กำหนด จะได้รับยกเว้นสำหรับดอกเบี้ยที่พักแขวนไว้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้รักษาวินัยในการผ่อนชำระ
นอกจากนี้ ระหว่างเข้าร่วมมาตรการ ลูกหนี้จะไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดภาระหนี้ให้ได้อย่างแท้จริง และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์จงใจผิดนัดชำระหนี้ เพื่อใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้
ทั้งนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ จะเป็นมาตรการชั่วคราว และเป็นมาตรการครอบคลุมเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ขนาดเล็กที่ตั้งใจจะลดหนี้และมีโอกาสที่จะกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติในระยะข้างหน้า เมื่อรายได้ฟื้นตัว ซึ่งจะเป็นจุดตั้งต้นของการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และรองรับกับมาตรการระยะถัดไปของภาครัฐ ที่จะส่งเสริมการเข้าสู่ระบบข้อมูลที่ทุกภาคส่วนสามารถทราบถึงภาระและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ ไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้เกินกำลัง หรือเกินความจำเป็น รวมถึงให้มีรายได้ขั้นต่ำที่พอเพียงในการดำรงชีพ หรือยกระดับทักษะและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจรายเล็ก
โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อขนาดเล็กที่เป็นไปตามเกณฑ์สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เป็นสัญญาเงินกู้ที่ทำก่อน 1 ม.ค. 2567 และเป็นสัญญาที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ตามเกณฑ์ที่กำหนด อ้างอิงข้อมูล ณ 31 ต.ค. 2567 ซึ่งคุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมาย เกณฑ์การเข้าร่วม และรายละเอียดของมาตรการ สมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง และ ธปท.อยู่ระหว่างการดำเนินการ จะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องอธิบายว่า การกำหนดเงื่อนไขกลุ่มเป้าหมาย เป็นลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อขนาดเล็กที่เป็นไปตามเกณฑ์สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เป็นสัญญาเงินกู้ที่ทำก่อน วันที่ 1 ม.ค. 2567 และประสบปัญหาการชำระหนี้ตามเกณฑ์ที่กำหนด อ้างอิงข้อมูล ณ 31 ต.ค. 2567 นั้น เหตุผลมีอยู่ด้วยกัน 2 มุม คือ 1.เพื่อไม่สร้างให้เกิดวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ (Moral Hazard) เช่น กลุ่มสินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่งปล่อยสินเชื่อใหม่ เป็นต้น
และ 2.สอดรับกับสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ได้เริ่มดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเฉพาะเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลัก
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังระบุว่า มาตรการยังต้องรอหาข้อสรุปสุดท้ายอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งการที่แบงก์เสนอลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ด้วยนั้น ก็พร้อมพิจารณา หากดูแล้วเห็นด้วย ก็จะเสนอ ครม.
“เรื่องนี้ก็น่าจะอยู่ในทางเลือกด้วย ตราบใดที่ช่วยแก้ไขปัญหาประชาชนได้ ผมก็โอเค”
นอกจากนี้ที่ผ่านมา นายพิชัยประเมินว่า ลูกหนี้ที่จะเข้าข่ายจะมีกว่า 1 ล้านราย โดยจะเป็นกลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว ทั้งกลุ่มผิดนัดไม่เกิน 90 วัน และกลุ่มที่เกิน 90 วัน แต่ยังไม่เกิน 1 ปี
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่า เบื้องต้นมาตรการจะเข้าไปช่วยเหลือคนตัวเล็กที่ผ่อนชำระหนี้ไม่ไหว กำลังจะถูกยึดบ้าน ยึดรถ และสถานประกอบการในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โดยต้องมียอดค้างชำระไม่เกิน 360 วัน ทั้งนี้ มาตรการนี้จะเป็นมาตรการระยะยาวประมาณ 3 ปี
อย่างไรก็ดี การเข้ามาตรการดังกล่าวก็จะมีผลกระทบส่วนหนึ่ง คือ จะต้องหยุดก่อหนี้ระยะหนึ่ง หากไม่สามารถทำได้ ก็จะยุติการพักดอกเบี้ย กลับเข้าสู่สถานะการผิดนัดชำระหนี้ตามเดิม
โดยมาตรการนี้เปรียบเหมือนการรักษาคนเป็นมะเร็ง ซึ่งการให้ยาคีโมย่อมมีผลข้างเคียงรุนแรง ผมร่วง แต่ก็มีโอกาสที่คุณจะรอด แล้วกลับมาใช้ชีวิต หรือทำมาหากินต่อไปได้ แต่อัตราการรอด 80-90% คงไม่ใช่ แต่มองว่า 50-60% เป็นยาที่ดีและแรงพอ แต่ก็ต้องทำใจเช่นกัน ว่ามีส่วนหนึ่งที่จะกลับมาไม่ไหว เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ถือว่าไม่น้อย
“กลุ่มที่คิดจะถือโอกาสหยุดชำระหนี้ เพื่อให้ได้รับการพักดอกเบี้ย ก็ไม่ควรจะเข้ามา เพราะมีผลข้างเคียงไม่น้อยเช่นกัน หากคนแกล้งป่วยเพื่อเอายานี้จะมีผลข้างเคียงรุนแรง เพราะจะต้องถูกคุมประพฤติ ห้ามก่อหนี้เข้มงวดระหว่างเข้าโครงการ” ซีอีโอทีทีบีกล่าว