สมาคมธนาคารไทย เดินหน้ามาตรการแก้หนี้ครัวเรือน เจาะกลุ่มเปราะบางผ่อนชำระไม่ไหว-เป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี โฟกัสบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 7 แสนบาท และเอสเอ็มอีรายเล็กวงเงิน 3 ล้านบาท จ่ายแค่เงินต้น-พักดอกเบี้ย ระยะเวลา 3 ปี คาดมาตรการเริ่มมีผลปี 2568 ชี้ แหล่งเงินสนับสนุนมาจากลด FIDF เหลือ 0.23% และเงินแบงก์ส่วนหนึ่ง
นายผยง ศรีวนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย สนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามที่สมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ทั้งรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีภาระหนี้สูง และประสบความยากลำบากในการชำระหนี้
โดยมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยสินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่อาศัย ไม่เน้นบ้านเก็งกำไร สินเชื่อรถยนต์ ราคาไม่เกิน 7 แสนบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน และสินเชื่อ SMEs รายเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่ออยู่ที่ 3 ล้านบาทต่อราย และมีปัญหาเริ่มค้างชำระอ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ไม่ใช่มาตรการที่มุ่งแก้ปัญหาชั่วคราว
“กลุ่มลูกหนี้ที่เข้ามาตรการจะเป็นกลุ่มเปราะบางเริ่มมีสัญญาณผ่อนชำระไม่ไหว ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ตามประกาศของเครดิตบูโร โดยเรา Cut-off วันที่ 31 ต.ค. 67 และเป็นหนี้ไม่เกิน 1 ปี เพื่อป้องกัน Moral Hazard และจะเปิดลงทะเบียนลูกหนี้ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)”
โดยทางรัฐบาลจะต้องมีมาตรการในการดึงทุกภาคส่วนเข้าสู่ระบบรวมถึงฐานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบถึงภาระและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ ไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้เกินกำลังหรือเกินความจำเป็น
และเพื่อให้มีข้อมูลในการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด เหมาะสมและเป็นธรรม ลดรอยรั่วที่เป็นต้นทุนแฝงในระบบ เช่น การเสริมทักษะแรงงาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นทรัพยากรขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs พร้อมเสริมศักยภาพการแข่งขันสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs เช่น มีมาตรการสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงการประมูลงานภาครัฐ
สำหรับแหล่งเงินทุนในมาตรการจะมาจาก 2 ส่วนคือ การลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ทั้งระบบเหลือ 0.23% จากเดิม 0.46% ต่อปี และเงินสนับสนุนจากภาคธนาคาร ซึ่งขึ้นอยู่กับลูกหนี้ของแต่ละธนาคาร โดยเม็ดเงินความช่วยเหลือภาพรวมอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี
โดยรายละเอียดของมาตรการทาง ธปท.และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป แต่คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเริ่มได้ภายในต้นปี 2568 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่