“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” กูรูตลาดทุน วิเคราะห์ “เศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น-เงินทุนต่างชาติ-ค่าเงิน” หลัง “ทรัมป์” ชนะเลือกตั้งสหรัฐ เชื่อเศรษฐกิจไทยได้ผลบวกมากกว่าผลลบจากผลพวงสหรัฐขัดแย้งกับจีน หนุนส่งออก-FDI เชื่อ “ฟันด์โฟลว์ “ ไหลกลับเข้า “ตลาดหุ้นไทย-ตลาดตราสารหนี้ไทย” ชี้ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ GDP ปีหน้าโต 3% ตามคาดการณ์-การเมืองในประเทศนิ่ง เป็น 2 ปัจจัยหลักที่นักลงทุนต่างชาติจับตาดูอยู่
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า
หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ประเมินในช่วงแรกตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะได้ประโยชน์ปรับตัวขึ้นได้ เพราะทรัมป์เป็นมือโปรในการกระตุ้นธุรกิจและตลาดหุ้น และนักลงทุนเชื่อมั่นว่าทรัมป์น่าจะเข้ามาดูแลเศรษฐกิจได้ดีกว่าแฮร์ริส และโดยเฉพาะมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% ซึ่งทำให้กำไรธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นทันที ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูตอนช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐครั้งก่อน เศรษฐกิจสหรัฐและตลาดหุ้นก็ปรับตัวค่อนข้างดีก่อนที่จะเจอวิกฤตโควิด
แต่อย่างไรก็ตามในแง่ของความกังวลก็มีอยู่จากหลาย ๆ นโยบายของทรัมป์ ที่จะกดดันให้เงินเฟ้อสหรัฐปรับตัวขึ้นสูง โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าทุกชนิดจากจีนมาเป็น 60% และ 10% สำหรับประเทศอื่น ๆ แต่ด้วยความที่เป็นทรัมป์ยังมีดีกรีของความคาดเดาไม่ได้ (Unpredictability) อยู่พอสมควร ฉะนั้นรอบนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นแค่คำขู่หรือไม่ ซี่งต้องติดตามกันต่อไปแต่คิดว่าคงจะมีแนวโน้มยืดหยุ่นลงได้
สำหรับผลต่อประเทศไทย จริง ๆ รอบที่แล้วเศรษฐกิจไทยก็ได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐขัดแย้งกับจีน หนุนการส่งออกไทยกระเตื้องขึ้น และเกิดการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเห็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการกระจายลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย หนุนซัพพลายเชนต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตตามมามากขึ้น
ฉะนั้นถ้ามองในมุมนี้ ประกอบกับไทยเป็นประเทศที่เล็กมาก ทรัมป์คงไม่เลือกขัดแย้งกับไทยในช่วง 1-2 ปีแรก แต่คงจะไปโฟกัสประเทศใหญ่ ๆ อย่าง จีน, เม็กซิโก, ยุโรป ในแง่ของด้านเศรษฐกิจ ส่วนด้านสงครามจะเป็นฝั่งรัสเซียและอิสราเอล เพราะฉะนั้นผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยรอบนี้เชื่อว่าคงมีน้อย แต่มีผลด้านบวกมากกว่าถ้าได้ผลพวงจากการที่สหรัฐขัดแย้งกับจีน
ส่วนภาพตลาดหุ้นไทยมองว่าช่วงนี้เป็นลักษณะของนักลงทุนคงจะงง ๆ อยู่ว่าจะตัดสินใจลงทุนอย่างไร ประกอบกับปัญหาในประเทศโดยเฉพาะเรื่องของภาพรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ช่วงไตรมาส 3/2567 ที่ยังไม่ค่อยดี ถูกถ่วงจากธุรกิจพลังงาน จากราคาน้ำมันปรับลดลง และมี Inventory Loss ธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมหนักที่ยังอยู่ในวัฏจักรขาลง (Downcycle) ประกอบกับธุรกิจธนาคารที่ยังตั้งสำรองสูงอยู่
แม้บางเซ็กเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภาคอื่น ๆ เช่น การส่งออก, การท่องเที่ยว และการบริโภค หลายบริษัทมีผลกำไรเติบโตดีขึ้นก็ตาม ฉะนั้นผลในภาพรวมที่ดูไม่ตื่นเต้น จึงยังกดดันหุ้นไทยเพราะไม่มีจุด catalyst ที่จะลากขึ้นไปได้ โดยคาดว่านักลงทุนคงรอเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ถ้าออกมาได้เร็วคงจะเป็นประเด็นหนุนดัชนี SET สำคัญมากที่สุด
ทั้งนี้สำหรับแนวโน้มภาพรวมกำไร บจ. ช่วงไตรมาส 4/2567 ประเมินน่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่กลุ่มที่ถ่วงดัชนีคงยังไม่ฟื้นตัวเร็ว แต่ถ้าโฟกัสการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค และการแพทย์ คงจะดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนสถาบันการเงินอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้หนี้ ที่รัฐบาลขอความช่วยเหลือจากภาคธนาคารพาณิชย์ และธนาคารคงอยากจะ Conservative ก่อนด้วยการตั้งสำรองสูงต่อเนื่องไปอีก
อย่างไรก็ดีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าน่าจะทำได้เร็วขึ้นและอาจจะใช้เม็ดเงินที่มากขึ้น เพราะจีนอาจจะเริ่มกังวลหากโดนกำแพงภาษีจริง อาจจะทำให้เศรษฐกิจจีนมีปัญหาได้ ดังนั้นจีนคงกระตุ้นเศรษฐกิจให้แรงขึ้นกว่าที่คิดไว้ ซึ่งมองว่าจะหนุนต่อไทยที่อาจจะได้ผลพวงตามมาจากสงครามการค้า (Trade War)
ส่วนสถานการณ์เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) เชื่อว่ามีโอกาสไหลกลับเข้ามาตลาดหุ้นไทยและตลาดตราสารหนี้ไทย แต่จะขึ้นอยู่กับ 1.ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สร้างความมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปโตที่ระดับ 3% ได้ในปี 2568 เหมือนที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้
และ 2.ความนิ่งของสถานการณ์ด้านการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยนักลงทุนต่างชาติจับตาดูอยู่ นอกจากนี้ทิศทางดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะลดดอกเบี้ย 0.25% ก็คาดว่าจะช่วยหนุนภาพตลาดหุ้นได้ต่อ แต่สำหรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะไม่ลดดอกเบี้ยแล้วในปีนี้ นอกจากเศรษฐกิจไทยอ่อนแอจริง ๆ
ขณะที่ทิศทางค่าเงิน ประเมินช่วงสั้น ๆ ค่าเงินดอลลาร์จมีโอกาสกลับไปแข็งค่าขึ้น เพราะนโยบายของทรัมป์เป็น inflationary โดยโอกาสที่ดอกเบี้ยในระยะกลางหรือในปี 2568 เริ่มไม่แน่ชัดว่าจะลงต่อเนื่องได้แค่ไหน นักลงทุนจึงมองค่าเงินดอลลาร์ที่คิดว่าจะอ่อนค่าก็กลับไปแข็งค่า แต่ท้ายที่สุดคงอยู่ที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะฟื้นตัวได้หรือไม่ หาก GDP ไทยเติบโตได้ 3% จริง และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา เชื่อว่าค่าเงินบาทเริ่มจะนิ่งได้