บาทอ่อนค่ารอบ 2 เดือน ก่อนแข็งขึ้นช่วงบ่าย จับตาประชุมนโยบายการเงินสหรัฐ

เงินบาท ธนบัตร
Thai baht notes REUTERS/Athit Perawongmetha

เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 2 เดือน ก่อนแข็งค่าขึ้นช่วงบ่าย จับตาประชุมนโยบายการเงินสหรัฐ ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group ชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.5% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.05-4.75% ในการประชุมครั้งนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (7/11) ที่ระดับ 34.43/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/11) ที่ระดับ 34.14/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก หลัง Dollar Index ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 105.12 จุด แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ขานรับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งแนวโน้มที่พรรครีพับลิกันจะกวาดเสียงข้างมากในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ

ซึ่งจะทำให้มาตรการต่าง ๆ ตามนโยบาย “Make America Grent Againl” ของทรัมป์ถูกขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนโยบายปรับลดอัตราภาษี การผ่อนคลายกฎระเบียบในภาคการเงิน และการใช้จ่ายทางการคลัง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ ตลาดจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันนี้ โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.05-4.75% ในการประชุมครั้งนี้

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทอ่อนค่าในรอบ 2 เดือนที่ระดับ 34.44/45 ขานรับชัยชนะของทรัมป์ ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงบ่าย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวปกติแต่ผันผวน และจะเฝ้าติดตามค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดหลังจากที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เนื่องจากนักลงทุนมองว่า รัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ภายใต้การนำของทรัมป์จะเร่งดำเนินนโยบายต่าง ๆ ตามที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งรวมถึงการปรบลดอัตราภาษี การผ่อนคลายกฎระเบียบในภาคการเงิน และการใช้จ่ายทางการคลัง

Advertisment

นโยบายเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้แข็งแกร่งขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.21-34.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.24/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/11) ที่ระดับ 1.0713/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/11) ที่ 1.0758/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

โดยวันนี้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่สองในปีนี้ แต่การตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยของ BOE ครั้งนี้จะถูกบดบังโดยผลกระทบจากงบประมาณของอังกฤษและชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บรรดานักเศรษฐศาสตร์และเทรดเดอร์คาดว่า BOE จะเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 4.75% หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดไว้

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยหลังจากการประชุมของ BOE ในวันนี้ (7 พ.ย.) นั้น ยังคงไม่แน่นอน เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศและต่างประเทศทำให้การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินเป็นไปอย่างผันผวน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ราเชล รีฟส์ รมว.คลังของอังกฤษ ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายด้านการคลังครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายทศวรรษ โดยเปิดเผยแผนการกู้ยืมที่อาจจะส่งผลให้ BOE คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะสูงขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า BOE เป็นธนาคารกลางรายใหญ่แห่งแรกที่จะพิจารณาดำเนินการใด ๆ จากชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอีกครั้งผ่านทางสงครามการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นอีก

ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0714-1.0771 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโ และปิดตลาดที่ระดับ 1.0762/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้ (7/11) ที่ระดับ 154.55/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/11) ที่ 153.91/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบเยน คาดนโยบาย “ทรัมป์” หนุนเงินเฟ้อสหรัฐ บริเวณกรอบกลาง 154 เยนในการซื้อขายเช้านี้่ที่ตลาดโตเกียว

โดยบรรดาดีลเลอร์เปิดเผยว่า เงินดอลลาร์แข็งค่าขานรับการคาดการณ์ที่ว่า นโยบายที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ เคยเสนอไว้ รวมถึงการปรับลดภาษีและตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศนั้น จะหนุนให้เงินเฟ้อมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 153.66-154.71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 153.96/00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (7/11), สินค้าคงคลังในกิจการค้าปลีกไม่รวมธุรกิจยานยนต์เดือน ก.ย. (7/11), ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (7/11), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนเดือน พ.ย. (8/11), แถลงการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (8/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.50/6.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.00/-3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ