ทีทีบี เตรียมเข้าซื้อหุ้น “ที ลีสชิ่ง” และ “บล.ธนชาต” ยกระดับบริการ-เสริมแกร่งธุรกิจ

ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีทีบี

ธนาคารทหารไทยธนชาต ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการลงนามข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการซื้อขายหุ้นของ “บริษัท ที ลีสชิ่ง จำกัด” จาก “บมจ.เอ็ม บี เค” และ “บล.ธนชาต” จาก “บมจ.ทุนธนชาต” หรือ TCAP ถืออยู่ทั้งหมดให้แก่ธนาคาร เผยขั้นตอนอยู่ระหว่างตรวจสอบวิเคราะห์สถานะกิจการ มั่นใจการเข้าทำธุรกรรมนี้จะช่วยยกระดับการให้บริการสำหรับลูกค้า เผยแหล่งเงินทุนใช้สภาพคล่องส่วนเกิน-ส่วนทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่อง ชี้แจงเกี่ยวกับการแจ้งข่าวของ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เรื่องการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการซื้อขายหุ้นของ บริษัท ที ลีสชิ่ง จำกัด

ทั้งนี้ ตามที่ บริษัท เอ็ม ปี เค จำกัด (มหาชน) (“เอ็ม ปี เค”) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ว่า เอ็ม บี เค ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Non-binding Memorandum of Understanding) (บันทึกข้อตกลง) กับ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (ธนาคาร) เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด (‘ที ลีสซิ่ง’) ที่ เอ็ม บี เค ถืออยู่ทั้งหมดให้แก่ธนาคาร เพื่อกำหนดข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย

และหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไปเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างคู่สัญญา โดยภายหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงแล้ว คู่สัญญาทุกฝ่ายประสงค์ที่จะตรวจสอบวิเคราะห์สถานะกิจการ (Due Diligence) จัดเตรียม พิจารณา ต่อรอง และตกลงเข้าทำสัญญาตามที่คู่สัญญาจะได้ตกลงกันต่อไปนั้น

ธนาคารขอเรียนแจ้งว่า ธนาคารได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจริง อย่างไรก็ตาม การลงนามในบันทึกข้อตกลงมิได้มีผลผูกพันทางกฎหมายในการซื้อขายหุ้นแต่อย่างใด

โดยธุรกรรมการซื้อขายหุ้นอาจเกิดขึ้นต่อเมื่อ (ก) คู่สัญญาเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่คู่สัญญาจะตกลงกันต่อไป (ข) ผลการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะกิจการ (Due Diligence) เป็นที่พอใจแก่ธนาคาร (ค) ธนาคารได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแต่กรณี และ/หรือ (ง) ธนาคารและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่จำเป็น โดยหากมีความชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขและระยะเวลาของการซื้อขายหุ้น ธนาคารจะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบต่อไป

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ธนาคารจะดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 20/2551 เรื่องหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ (รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 21/2551 เรื่องหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน (รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม) ประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ. 2547 (รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม)

ประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน พ.ศ. 2546 (รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม) และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (หากจำเป็น) และหากธนาคารมีความคืบหน้าที่เป็นสาระสำคัญ ธนาคารจะเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ที ลีสซิ่ง มี MBK ถือหุ้น 239,999,998 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ มีประสบการณ์ในธุรกิจยาวนานกว่า 30 ปี ทั้งยังมีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความรู้และเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจและตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ที่ครอบคลุม โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักคือพนักงานเงินเดือนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในด้านการเงิน ที ลีสซิ่ง มีฐานะทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพ

TTB เห็นว่าจากจุดแข็งดังกล่าวและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สอดคล้องกัน จึงเล็งเห็นถึงศักยภาพของ ที ลีสซิ่ง ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และต่อยอดแพลตฟอร์ม Car Ecosystem ของธนาคารให้มีบริการเช่าซื้อที่ครบวงจรมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารยังเห็นโอกาสในการนำเสนอ (Cross Sell) สินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไปยังฐานลูกค้ากลุ่มพนักงานเงินเดือนที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Payroll Ecosystem ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้กว่า 1 ล้านราย ทั้งนี้ ลูกค้ากลุ่มพนักงานเงินเดือนถือเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพและความเสี่ยงต่ำ สอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพของธนาคาร

นอกจากนี้ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Nonbinding Memorandum of Understanding) กับ ttb เพื่อขายหุ้นของ บล.ธนชาต ที่ TCAP ถืออยู่ทั้งหมดให้แก่ธนาคาร เพื่อกำหนดข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไปเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างคู่สัญญา โดยภายหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงแล้วคู่สัญญาจะเข้าตรวจสอบวิเคราะห์สถานะกิจการ (Due Diligence) จัดเตรียม พิจารณา ต่อรอง และตกลงเข้าทำสัญญาตามที่คู่สัญญาจะได้ตกลงกันต่อไปนั้น

ปัจจุบัน บล.ธนชาต มีผู้ถือหุ้นหลัก ได้แก่ TCAP เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 2,698,959,721 หุ้น หรือคิดเป็น 89.97% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้ว และธนาคารเป็นผู้ถือหุ้น 300,000,000 หุ้น หรือคิดเป็น 10%

ทั้งนี้ การเข้าถือหุ้นทั้งหมดใน บล.ธนชาต จะช่วยส่งเสริมศักยภาพด้าน Wealth Ecosystem และความสามารถในการแข่งขันของธนาคาร ผ่านจุดแข็งของบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำที่อยู่ในธุรกิจมายาวนานและมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ย่อมสร้างความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับลูกค้าหากจะเข้ามาเป็นบริษัทย่อยของธนาคาร ในการให้บริการด้านการเงินใน 2 ส่วนหลักด้วยกัน

ส่วนแรก ได้แก่ บริการด้านการลงทุนสำหรับลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้ารายย่อยกลุ่มมั่งคั่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการรวมกิจการ ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการจาก บล.ธนชาต ซึ่งมีความหลากหลาย และเมื่อรวมกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ธนาคารมีอยู่ในปัจจุบัน ก็จะช่วยยกระดับบริการด้านการลงทุนให้มีความครบครันในที่เดียว (One Stop Service)

และช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการพอร์ตความมั่งคั่ง (Wealth Management) ได้ครบทุกแง่มุมการลงทุนแบบ 360 องศา และในส่วนที่สอง ได้แก่ บริการสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ก็จะช่วยยกระดับบริการด้านการบริหารเงินทุนที่ธนาคารมีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ด้านวาณิชธนกิจ บริการด้านตลาดทุน รวมถึงการเสนอเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ให้ดียิ่งขึ้น

ธนาคารเชื่อว่าการเข้าทำธุรกรรมนี้จะช่วยยกระดับการให้บริการสำหรับลูกค้า สร้างโอกาสในการทำงานให้กับพนักงานจากการขยายขอบเขตงานใหม่ ๆ และสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้กับผู้ถือหุ้น ถือได้ว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย จึงเป็นที่มาของการลงนามในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้

สำหรับแผนการจัดหาเงินทุนโดยใช้แหล่งเงินทุนภายใน ซึ่งได้แก่ การใช้สภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่ และส่วนทุน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างมีนัยสำคัญ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/67 อัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) ของธนาคารอยู่ที่ 19.7% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) อยู่ที่ 17.3% เทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ