บล.เอเซีย พลัส มองกลางต่อดีล TTB ซื้อหุ้นบริษัท “บล.ธนชาต-ที ลีสซิ่ง” ประเมินมูลค่าธุรกรรม จากราคาทุน บล.ธนชาต อยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท TLEASING 2.4 พันล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่า วานนี้ บมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าซื้อหุ้นใน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาต จำกัด (มหาชน) (TNS) สัดส่วน 89.97% (ปัจจุบัน TTB ถือหุ้นใน TNS สัดส่วน 10%) จาก บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และบริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด (TLEASING) (เช่าซื้อรถจักรยานยนต์) สัดส่วน 100% จาก บมจ.เอ็ม บี เค (MBK) ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยมูลค่าการซื้อขาย
โดยธุรกรรมจะแล้วเสร็จหลังทำ Due Diligence รวมถึงได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลัก ๆ คือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และที่ประชุมผู้ถือหุ้น (ปกติ AGM ช่วงเดือน เม.ย.)
ความเห็นฝ่ายวิจัย มองกลาง แม้หากธุรกรรมแล้วเสร็จจะสร้างส่วนเพิ่มให้กับประมาณการ TTB แต่ประเมินกำไรที่เพิ่มต่อประมาณการจากทั้ง 2 ไม่สูง และเนื่องจากยังไม่มีการเปิดเผยราคาในการเข้าซื้อ ซึ่งฝ่ายวิจัยมองว่าการทำ M&A ราคาหุ้นของผู้ซื้อจะตอบสนองในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับความถูกหรือแพงของธุรกรรม โดยมีรายละเอียดของทั้ง 2 ธุรกิจดังนี้
1.บล.ธนชาต คิดเป็นสัดส่วนราว 0.6% บนสมมุติฐานกำไร 250 ล้านบาท รับรู้ตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2568 อิงกำไรงวดครึ่งปีแรกของปี 2567 ของ บล.ธนชาต ราว 95 ล้านบาท (ค่าเฉลี่ยกำไรปี 2563-2566 ราว 474 ล้านบาทต่อปี ตามภาวะตลาดทุน) ด้านประโยชน์เชิงกลยุทธ์จะช่วยปิดจุดอ่อนของ TTB ที่ยังขาดค่าธรรมเนียมจาก บล. เมื่อเทียบกับธนาคารอื่น
2.ที ลีสซิ่ง อิงข้อมูล DBD ปี 2566 มีกำไร 36 ล้านบาท (ปี 2565 มีกำไร 487 ล้านบาท) ขณะที่สินเชื่อ ณ สิ้นงวดไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท (สัดส่วน 0.6% ของสินเชื่อ TTB) และสัดส่วน NPL Ratio ราว 2.4% (สิ้นปี 2566 ที่ 2.8%) โดยประโยชน์ที่ได้ช่วยเสริมพอร์ตสินเชื่อไฮยีลด์ของ TTB
ซึ่งฐานลูกค้าของ TLEASING เน้นกลุ่มลูกค้ามีเงินเดือนในเมืองเป็นหลัก เพียงแต่ยอดขายรถจักรยานยนต์ตั้งแต่ปี 2559-2566 อยู่ในกรอบ 1.6-1.8 ล้านคัน (9 เดือนแรกปีนี้ราว 1.3 ล้านคัน) และดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ต่ำลงตามเกณฑ์ของ สคบ. เหลือไม่เกิน 23% ต่อปี (เดิมประมาณ 40% ต่อปี) ภาพรวมทำให้ความน่าสนใจของการทำธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์อยู่ในระดับที่เป็นกลางตามความเห็นฝ่ายวิจัย
มูลค่าธุรกรรมที่อาจเป็นไปได้เบื้องต้น สามารถพิจารณาจากราคาทุนของ บล.ธนชาต ที่ TCAP ถือ ณ สิ้นงวดไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท ส่วนราคาทุนของ TLEASING ที่ MBK ถืออยู่ ณ สิ้นปี 2566 ราว 2.4 พันล้านบาท (ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นปี 2566 ราว 2.9 พันล้านบาท) ด้านผลต่อสัดส่วนเงินกองทุนของ TTB ด้วยสินทรัพย์ของ TNS ราว 8.5 พันล้านบาท และสินเชื่อ TLEASING ข้างต้น รวมกันจะอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท
จึงมองว่าผลกระทบต่อระดับ BIS Ratio และ Tier-1 ไม่สูง ซึ่ง ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 19.7% และ 17.3% สูงเกินเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท. ที่ 12% และ 9.5% ตามลำดับ จึงประเมิน TTB ยังคงสามารถรักษาอัตราการจ่ายปันผลได้ (สมมุติฐานฝ่ายวิจัยปี 2567-2569 กำหนดที่เฉลี่ย 62% ของกำไรสุทธิ) อิง PBV ที่ 0.8 เท่า ให้ราคาเป้าหมายปี 2568 ที่ 2.02 บาท (เทียบเท่า PER 10 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2560) คงแนะนำ Neutral แม้การเติบโตของกำไรไม่สูง แต่ให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลราว 7% ต่อปี