SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายทรัมป์ 2.0 คาดส่งออกลดลง 0.8-1% จากมาตรการกีดกันทางการค้า ด้านการลงทุนลด 0.4-0.5% จากความไม่แน่นอนการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อจีดีพีไทยปี 68 ลดลง 0.5% เผยระยะปานกลางได้อานิสงส์การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ภายหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 และจะกลับเข้าทำเนียบขาวได้อีกครั้ง ตามการคาดการณ์ของสำนักต่างๆ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง นอกจากว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบขาดลอยได้คะแนนสูงกว่ารองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส คู่แข่งจากพรรค Democrats แล้ว พรรค Republicans ของทรัมป์ก็ยังครองเสียงข้างมากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอีกด้วย (Republicans Sweep) ทรัมป์มีแนวนโยบายกีดกันการค้าที่จะเร่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และเน้นความมั่นคงด้านพลังงานมากกว่าช่วยลดโลกร้อน นโยบายสำคัญที่ทรัมป์เคยกล่าวไว้ตอนหาเสียง เช่น
1.ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีก 60 pp. (percentage point) และสินค้าประเทศอื่น 10 pp.
2.กีดกันคนต่างชาติอพยพเข้าสหรัฐฯ โดยจะห้ามและขับไล่ผู้ข้ามแดนผิดกฎหมาย จำกัดการข้ามแดนถูกกฎหมาย และชะลอการอนุมัติวีซ่าเข้าสหรัฐฯ
3.ให้พันธมิตรสหรัฐฯ พึ่งพาตนเองด้านกำลังทหารมากขึ้น โดยจะลดเงินสนับสนุนของสหรัฐฯ ในการป้องกันประเทศของยูเครน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้
4.เน้นความมั่นคงด้านพลังงานก่อนการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยจะยังสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันต่อไป
5.ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและผู้มีฐานะมั่งคั่ง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุลการคลังและต้องก่อหนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ผ่านผลกระทบด้านการค้าและการลงทุนเป็นสำคัญ 1.การส่งออกสินค้า : นโยบายกีดกันการค้าและการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นวงกว้างของสหรัฐฯ ที่กดดันการค้าโลกให้ชะลอลง ส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกไทย จาก
-สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยจะขยายตัวลดลง โดยเฉพาะสินค้าหลัก เช่น คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นกำแพงภาษี
-ภาษีนำเข้าสินค้าจีนไปตลาดสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหา Overcapacity ของจีนที่ยังไม่คลี่คลายในปัจจุบัน ยิ่งทำให้จีนจำเป็นต้องหาตลาดอื่นทดแทน สินค้าจีนจึงมีแนวโน้มทะลักเข้ามาขายตลาดอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะไทย ส่งผลกระทบทางอ้อมทำให้ผู้ผลิตไทยเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น และยิ่งกดดันให้ภาคการผลิตไทยฟื้นช้า SCB EIC ประเมินมูลค่าส่งออกไทยในปี 2568 จะลดลงราว 0.8 – 1 pp. จากผลกระทบนโยบายกีดกันการค้าที่เพิ่มขึ้น2.การลงทุน : ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามนโยบายการค้าของทรัมป์ที่ยังไม่ชัดเจน อาจทำให้ภาวะการลงทุนซบเซาลง นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจน ทำให้การย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยจึงอาจยังไม่เกิดขึ้นในระยะสั้นหรือเป็นไปได้ช้า รวมถึงความเสี่ยงกดดันการลงทุนจะมีมากขึ้นในระยะต่อไป
โดยเฉพาะการย้ายฐานการลงทุนจากสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ตามนโยบายกีดกันของสหรัฐฯ ที่ต้องการดึงการลงทุนกลับไปสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน SCB EIC ประเมินการลงทุนภาคเอกชนไทยในปี 2567 จะลดลงราว 0.4 – 0.5 pp. จากความไม่แน่นอนของการค้าและการลงทุนโลกที่เพิ่มขึ้นในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกดดันให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวต่ำลงจากแนวโน้มเดิม สาเหตุหลักจากการส่งออกไทยถูกกดดันจากปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง และการลงทุนในไทยที่ยังไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากต่างชาติได้เต็มที่
โดย SCB EIC ได้ประเมินผลกระทบนโยบายทรัมป์ 2.0 ต่อเศรษฐกิจไทยผ่านแบบจำลองที่เชื่อมโยงผลกระทบเศรษฐกิจโลกตามผลศึกษาของ IMF (Oct24) สู่ช่องทางหลักของเศรษฐกิจไทย พบว่า การส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการกีดกันการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมา เศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะลดลงราว 0.5 pp. เทียบกับแนวโน้มเดิมก่อนรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯแม้นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะการกีดกันการค้าและลงทุนจะกดดันให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าขยายตัวต่ำลง แต่ในระยะปานกลาง SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบของนโยบายกีดกันระหว่างประเทศในมิติต่างๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจเร่งตัวขึ้น ไทยอาจได้รับประโยชน์ จากรูปแบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป โดยกลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกันจะพึ่งพาการค้าระหว่างกันลดลงและหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral stance) มากขึ้น
หากประเทศไทยสามารถรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกได้ อาจจะได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน (Trade and investment diversion) จากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกันมากขึ้น
นโยบายของประเทศไทยในการเตรียมรับมือโลกที่กำลังแบ่งขั้วรุนแรงขึ้นภายใต้ทรัมป์ 2.0 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนโยบายเร่งด่วนในระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาการแข่งขันรุนแรงจากสินค้านำเข้าจากจีนที่จะเข้ามาตีตลาดไทยได้มากขึ้น และนโยบายรับมือในระยะยาวเพื่อเตรียมปรับตัวคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้น