ดอลลาร์ ยังแข็งค่า รับแรงบวกจากผลการเลือกตั้ง

ดอลลาร์

ดอลลาร์ยังแข็งค่า รับแรงบวกจากผลการเลือกตั้งสหรัฐ หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งขณะที่ตลาดประเมินว่า นโยบายต่าง ๆ จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐสูงขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/11) ที่ระดับ 34.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (08/11) ที่ระดับ 34.00/01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ระหว่างวันบาทยังคงทยอยปรับอ่อนค่าตามการเคลื่อนไหวของค่าดัชนีดอลลาร์สหรัฐ (Dollar Index) ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในที่ระดับ 105.04 จากระดับปิดตลาดที่เมื่อวันศุกร์ (08.11) ที่ 104.40 และปิดตลาดในวันนี้ (11/11) ที่ระดับ 105.32

การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นการปรับตัวตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่สูงขึ้น ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง และตลาดประเมินว่านโยบายต่าง ๆ จะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐสูงขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงมาก นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลอีกด้วยว่ามาตรการด้านศุลกากร จะฉุดรั้งการค้าโลก

นอกจากนี้เมื่อคืนวันศุกร์ (08/11) สหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมิชิแกนสหรัฐประจำเดือนพฤศจิกายน (Prelim UoM Consumer Sentiment) อยู่ที่ 73.0 สูงสุดในรอบ 7 เดือน ซึ่งข้อมูลจาก Fed Watch Tool ของ CME บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 65.1% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50%

ด้านราคาทองคำ ในวันนี้ยังคงปรับตัวลดลงจากแรงกดดันของ “Trump Trade” โดยในช่วงเช้าอยู่ที่ระดับ 2,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และปิดตลาดที่ระดับ 2,668 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทเพิ่มเติมอีกด้วย

Advertisment

ด้านปัจจัยในภูมิภาคนั้น การอ่อนค่าของเงินหยวนยังเป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทเพิ่มเติม โดยค่าเงินหยวนปรับตัวอ่อนค่าลงหลังการประชุมสภานิติบัญญัติระดับสูงของจีนในวันศุกร์ที่ผ่านมา (08.11) เนื่องจากมาตรการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นมากกว่าการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ซึ่งขัดแย้งกับความคาดหวังของตลาดที่ต้องการมาตรการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้การเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนตุลาคมของจีน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (09/11) ที่เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นการชะลอตัวลงจากเดือนกันยายน ซึ่งบ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรฐบาลจีนยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด

Advertisment

ด้านปัจจัยภายในประเทศ ในวันนี้ตลาดหุ้นไทยช่วงท้ายภาคเช้าร่วงลงกว่า 10 จุด โดยมาจากแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ หลังจากการเปิดเผยงบไตรมาส 3/67 ออกมาแย่กว่าคาด เช่น WHA, STA, STGT และยังมีแรงกดดันจากค่าเงินบาทอ่อนค่าหนุนเงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง

นอกจากนี้ในวันนี้ (11/11) ยังมีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) โดยข่าวอย่างไม่เป็นทางการจากแหล่งข่าวในกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกมีมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.คลัง นั่งประธานบอร์ดคนใหม่

ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.24-40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/11) ที่ระดับ 1.0727/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (08/11) ที่ระดับ 1.0771/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังเคลื่อนไหวอ่อนค่าจากผลการเลือกตั้งของสหรัฐและความกังวลของตลาดต่อนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0669-1.0727 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0672/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/11) ที่ระดับ 153.08/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (08/11) ที่ระดับ 152.22/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยยังได้รับแรงกดดันเช่นเดียวกับเงินสกุลอื่น ๆ ในตลาด

นอกจากนี้ในวันนี้ (11/11) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เผยแพร่สรุปการประชุมนโยบายเดือนตุลาคม โดยคณะกรรมการ BOJ มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งกรรมการบางรายเตือนว่าการขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจทำให้ตลาดการเงินกลับมาผันผวนได้

โดยในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 152.62-153.85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 153.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของสหรัฐ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค (12/11), ดัชนีราคาผู้บริโภค (13/11), ดัชนีราคาผู้ผลิต (14/11), ยอดค้าปลีก (15/11), ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม (15/11),และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (15/11)

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีน (15/11), ยอดค้าปลีกของจีน (15/11) และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/67 ของอังกฤษ (15/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.70/-6.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ -3.25/-2.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ