
วิจัยกรุงศรี ประเมิน 3 ฉากทัศน์ต่อนโยบายการค้า-การตั้งกำแพงภาษีสหรัฐฯ ชี้ สหรัฐฯ ขึ้นภาษีจีน 60% ทุกรายการ หนุนการส่งออกไทย-จีดีพีกรณีฐาน 1.66% พร้อมมองเงินเฟ้อทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช่วงปลายปี คาด กนง. คงดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคมทยอยปรับขึ้นอย่างช้าๆ คาดกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคมอยู่ที่ 0.83% YoY เพิ่มขึ้นจาก 0.61% ในเดือนกันยายน ปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร
โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นเนื่องจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.77% ทรงตัวเท่ากับเดือนกันยายน สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี (มกราคม-ตุลาคม) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่0.26% และ 0.52% ตามลำดับ
อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีคาดว่ายังมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการที่ 1-3% ได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของราคาน้ำมันดีเซลที่ต่ำในปีก่อนที่ 30 บาทต่อลิตร เทียบกับปัจจุบันที่กำหนดเพดานที่ 33 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้ กิจกรรมท่องเที่ยวในช่วงปลายปีอาจหนุนให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ 0.5%
สำหรับมุมมองด้านดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากที่กนง.สร้างความประหลาดใจด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 2.25% ในการประชุมรอบเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนในการประชุมที่เหลือในรอบสุดท้ายของปี ในวันที่ 18 ธันวาคม วิจัยกรุงศรีคาดว่ากนง.ยังมีแนวโน้มไม่รีบเร่งปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่อง โดยจะคงไว้ที่ระดับ 2.25% เพื่อรอดูสถานการณ์และประเมินทิศทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินในระยะต่อไป ผนวกกับรัฐบาลมีแผนเตรียมจะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี รวมถึงแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพื่อบรรเทาปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน
สำหรับนโยบายภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลเชิงบวกต่อบางอุตสาหกรรม แต่ส่งผลเชิงลบต่อหลายอุตสาหกรรม จากนโยบายภาษีการค้าซึ่งนายทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ประกาศไว้ก่อนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งล่าสุด ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลต่อสงครามทางการค้าที่มีความเสี่ยงทวีความรุนแรงขึ้น
วิจัยกรุงศรีได้ศึกษาโดยสร้างสถานการณ์จำลองเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทุกรายการในอัตรา 60% อาจทำให้การส่งออก และ GDP ของไทย เพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน +1.66% และ +0.05% ตามลำดับ ในกรณีนี้แม้ไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและการส่งออกทดแทนในบางอุตสาหกรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ แต่การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงจากกรณีฐานเนื่องจากอุปสงค์โลกโดยรวมชะลอลง
กรณีที่ 2 สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 60% และ 20% กับสินค้านำเข้าจากประเทศ อื่นๆ จะส่งผลเชิงลบต่อไทยโดยการส่งออก และ GDP ของไทย จะลดลงจากกรณีฐาน -1.09% และ -0.01% ตามลำดับ ผลกระทบจากความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้จะมีการย้ายฐานการผลิตมายังไทยก็ตาม
กรณีที่ 3 จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีในอัตรา 60% กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ กรณีดังกล่าวแม้ไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตแต่ช่วยให้ GDP ไทยเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานเพียง +0.01% ขณะเดียวกันการส่งออกของไทยจะลดลงสุทธิจากกรณีฐาน -0.77% โดยเป็นการลดลงของการส่งออกในหลายกลุ่มสินค้า อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ยางพาราและพลาสติก เนื่องจากความต้องการสินค้าอื่นๆจากเศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯ จีนและโลกได้รับผลกระทบหนักจากการตอบโต้ทางการค้า
ในระยะข้างหน้าอาจต้องติดตามว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายการค้าในรูปแบบใด ซึ่งนับว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยท้าทายของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าไทยอาจได้รับประโยชน์บางส่วนจากการย้ายฐานการผลิตและการส่งออกทดแทนในบางอุตสาหกรรม แต่การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมยังคงมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกและความผันผวนทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้า
โดยเฉพาะในกรณีที่ 2 และ 3 ที่สหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าจากไทย และจีนตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการเก็บภาษี ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยมีผลสุทธิเป็นลบ การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว