ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการ-ผู้บริหาร IEC กับพวก รวม 4 ราย ต่อ DSI กรณีทุจริตจัดซื้อที่ดิน

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร “อินเตอร์แนชั่นเนิล เอนจีเนียริง หรือ IEC” กับพวกรวม 4 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในข้อหาร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต ผ่านการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชีวมวลและ Plastic Recycling “บ้านบึง ชลบุรี” แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ทำให้ IEC ได้รับความเสียหาย

รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับเรื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในช่วงกลางปี 2564 ขอให้ ก.ล.ต. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานกรณีมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า IEC มีการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าส่อไปทางทุจริตและแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีที่ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษต่อ DSI ไปก่อนหน้านั้นแล้ว

ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) และดำเนินการกล่าวโทษนายภูษณ ปรีย์มาโนช และนางสัณห์จุฑา วิชชาวุธ อดีตกรรมการและผู้บริหาร IEC กับพวกอีก 2 ราย ได้แก่ พลโท อนุธัช บุนนาค และนายสราญ เลิศเจริญวงษา

โดยปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2557-2558 บุคคลทั้ง 4 ราย ได้ร่วมกันกระทำการทุจริตผ่านธุรกรรมการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชีวมวลและ Plastic Recycling ที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ในราคาสูงเกินสมควร และให้ IEC จ่ายเงินค่าจ้างในการจัดหาสิทธิกำจัดขยะ เพื่อให้ IEC เข้าทำสัญญารับช่วงสิทธิกำจัดขยะ โดยนายภูษณและนางสัณห์จุฑารู้อยู่แล้วว่า IEC ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ เนื่องจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ IEC ถูกยกเลิกไปแล้ว อันเป็นเหตุให้ IEC ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 156.8 ล้านบาท

การกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 รายต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจและไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี นับตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวต่อ DSI

Advertisment

ทั้งนี้ ภายหลังการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาต่อไปเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามลำดับ โดย ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว