ค่าเงินดอลลาร์ แข็งค่าต่อเนื่อง ภายใต้รัฐบาล Trump 2.0

ธนบัตร U.S.dollar banknotes
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง ภายใต้รัฐบาล Trump 2.0 นักลงทุนจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รวมถึงการกล่าวสุนทรพจน์ของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ในงานเสวนาที่จัดขึ้นที่เมืองดัลลัส

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 12 ตุลาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 34.56/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/11) ที่ระดับ 34.32/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของนายทรัมป์ โดยเฉพาะการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้อ และอาจส่งผลให้เฟดชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือน ต.ค.ในวันพุธ (13/11) นี้ รวมถึงการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดในงานเสวนาที่จัดขึ้นที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ในวันพฤหัสบดี (14/11) ว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ

ด้านปัจจัยภายในประเทศ ผลการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มี “นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” เป็นประธานสรรหาที่ถูกจัดเมื่อวานนี้ (11/11) มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนที่ 5 จากการเสนอชื่อของกระทรวงการคลัง

สำหรับตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง คณะกรรมการได้คัดเลือก “นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์” อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทวงการคลังและ “นางชุณหจิต สังข์ใหม่ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ที่ได้รับการเสนอชื่อจาก ธปท.

โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินของประเทศในเอเชีย เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของ ธปท. นับตั้งแต่รัฐบาลเพิ่มแรงกดดันให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังจากมีมติดังกล่าว ทั้งนี้ ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.53-34.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (12/11) ที่ระดับ 1.0658/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/11) ที่ระดับ 1.0674/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สอดคล้องตามการแข็งค่าของดอลลาร์ โดยนักลงทุนกังวลว่าการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหัฐของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรป ท่ามกลางความไม่แน่นอนในการเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้น โดยในวันนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0616-1.0659 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0621/22ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (12/11) ที่ระดับ 153.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/11) ที่ระดับ 153.69/70 เยน/ ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับแรงกดดันเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่น ๆ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์

Advertisment

ในวันนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 154.06-153.40/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 153.96/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ในวันนี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือน ต.ค.จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) และตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือน ต.ค. รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ พ.ย.จากสถาบัน ZEW ของ อียู, อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. (ประมาณการครั้งสุดท้าย) ของเยอรมนี และอัตราว่างงานเดือน ก.ย.ของอังกฤษ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.3/-7.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.5/1.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ