ดอลลาร์ปรับตัวในกรอบ จับตา CPI คืนนี้

ดอลลาร์

ดอลลาร์ปรับตัวในกรอบ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐคืนนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/11) ที่ระดับ 34.74/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/11) ที่ระดับ 34.83/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) ได้มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 93.7 ในเดือน ต.ค. มากกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 91.9 จากระดับ 91.5 ในเดือน ก.ย.

โดยนักลงทุนรอจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันนี้ (13/11) เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนี CPI จะปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ก.ย.เช่นกัน

นอกจากนี้นักลงทุนยังรอจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ในงานเสวนาที่จะจัดขึ้นที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ในวันพฤหัสบดี 14 พ.ย. เวลา 15.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับวันศุกร์ที่ 15 พ.ย.เวลา 03.00 น.ตามเวลาไทย เพื่อดูท่าทีและแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไป

ด้านปัจจัยภายในประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 87.1 ในเดือน ก.ย. 2567 เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย

ขณะที่ภาครัฐเร่งฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์การเกษตร และปุ๋ยเคมี

Advertisment

ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.66-34.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.70/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/11) ที่ระดับ 1.0626/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/11) ที่ระดับ 1.0616/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวานนี้ (12/11) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) ได้มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับ 7.4 ในเดือน พ.ย. จากระดับ 13.1 ในเดือน ต.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 13.0

Advertisment

โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของเยอรมนี หลังการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของเยอรมนี ทั้งนี้ในระหว่างวันเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0592-1.0629 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0616/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/11) ที่ระดับ 154.80/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/1) ที่ระดับ 154.08/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้ (13/11) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (CGPI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดราคาสินค้าและบริการที่บริษัทขายให้แก่กัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือน ต.ค.เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.9% และสูงกว่าเดือน ก.ย.ที่เพิ่มขึ้น 3.1%

โดยข้อมูลระบุว่า ราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นควบคู่กับต้นทุนของกลุ่มโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก อาหาร และน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันเงินเฟ้อในภาคค้าส่งโดยรวมให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณว่าบริษัทต่าง ๆ ยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจของ BOJ เกี่ยวกับระยะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมีความยากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 154.49-155.23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 154.94/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของสหรัฐ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) (13/11), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) (14/11), ยอดค้าปลีก (15/11), ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม (15/11), และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (15/11)

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีน (15/11), ยอดค้าปลีกของจีน (15/11) และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/67 ของอังกฤษ (15/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.20/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.30/-1.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ