SCB ยันคุมหนี้เสีย SMEs ทั้งปีไม่เกิน 2.9% ชี้ เฝ้าระวังลูกค้าเปาะบาง 3.5 พันล้าน

พิกุล ศรีมหันต์
พิกุล ศรีมหันต์

ธนาคารไทยพาณิชย์เผย ช่วยลูกหนี้เอสเอ็มอีปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่องราว 5.5 หมื่นล้านบาท พร้อมเกาะติดกลุ่มเปราะบางอีก 3.5 พันล้านบาท ชี้ หนี้เสียปรับดีขึ้น คาดทั้งปีคุมไม่เกิน 2.9% ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 4 หมื่นล้านบาท เดินหน้าหนุนเงินทุนให้ลูกค้าปรับตัวอีกปีละ 2,000 ล้านบาท

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในปี 2567 ในกลุ่มที่มียอดขายตั้งแต่ 75-500 ล้านบาท โดยปกติจะปล่อยสินเชื่อใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี คาดว่าปีนี้พอร์ตสินเชื่อน่าจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยประมาณ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากมีลูกค้าชำระหนี้คืน

อย่างไรก็ดี ภายใต้เศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางและมีความผันผวน ธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีลูกค้าบางส่วนเมื่อได้รับความช่วยเหลือก็สามารถปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังเปราะบางที่ธนาคารเฝ้าติดตามใกล้ชิด แต่ยังไม่ได้ขอรับความช่วยเหลืออยู่ประมาณ 3,500 ล้านบาท ทั้งนี้ ในระยะต่อไปภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการช่วยเหลือธนาคารก็พร้อมจะช่วยเหลือและดำเนินตามมาตรการของภาครัฐ

ทั้งนี้ ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต้องยอมรับว่า กลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีมีเอ็นพีแอลสูงกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งสอดคล้องกับความเสี่ยงของธุรกิจ อย่างไรก็ดี คาดว่าภายในสิ้นปี 2567 เอ็นพีแอลน่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.9% ปรับลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 3.2%

“ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ที่บอกกันว่าทั้งเปราะบาง กีดกัน และผันผวนนี้ เอสเอ็มอีก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง และกระทบในทุกกลุ่มธุรกิจ แล้วถ้าไม่ปรับตัวก็จะลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะกับตัวที่เรียกว่า กีดกัน หรือก็คือ ESG นั่นเอง ซึ่งไทยพาณิชย์เองก็ให้ความสำคัญ และช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งในเรื่องของการให้องค์ความรู้และด้านเงินทุน“

นอกจากนี้ ธนาคารช่วยเหลือลูกค้าในการปรับตัวการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล (ESG) เพราะเอสเอ็มอีเป็นส่วนใหญ่ของซัพพลายเชนที่ต้องปรับตัวตามธุรกิจขนาดใหญ่ หากไม่เร่งดำเนินการจะเสียโอกาสทางการค้า และสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ จุดอ่อนของเอสเอ็มอีในการปรับตัวเข้าสู่กระแส ESG มี 5 ข้อใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.ขาดความรู้และความเข้าใจ 2.กังวลต่อต้นทุนที่จะสูงขึ้นจากการปรับตัว 3.เงินทุนและสภาพคล่องที่อาจไม่เพียงพอ 4.คู่ค้ายังไม่ให้ความสำคัญและอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบ และ 5.ความตระหนักรู้ของพนักงานค่อนข้างจำกัด

ดังนั้น ธนาคารได้นำเสนอสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing) ดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อทั่วไป เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในกิจการ การจัดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียและบำบัดมลพิษ โดยนับตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน ธนาคารอนุมัติวงเงินสินเชื่อไปจำนวนมากกว่า 3,000 ล้านบาท

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ดี ธนาคารตั้งเป้าจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 1,000 กิจการ และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท

โดยธนาคารประกาศแนวทาง “เริ่ม เพื่อ รอด” ให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอีสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.โครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing) ดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% ต่อปี

2.โครงการที่ปรึกษาทางธุรกิจ SCB SME Mentor รุ่นที่ 4 Sustainability เป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจเอสเอ็มอีก้าวข้ามผ่านสู่ความยั่งยืน ผนึกกำลัง 3 หน่วยงาน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (หรือ NIA), และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และอีก 1 บริษัทเอกชน บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมมือกันนำความรู้ ประสบการณ์ และเชี่ยวชาญการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจและใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่นักธุรกิจ SMEs รายอื่น ๆ เพื่อร่วมวางยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ SMEs ในระยะยาว

รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนเอสเอ็มอีเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน อาทิ การร่วมมือกับภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดแคมเปญเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยสนับสนุนค่าบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน หรือ ESG วงเงินช่วยเหลือ อุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไขการชำระคืน (Grant) สูงสุดรายละไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี รวมทั้งหมดไม่เกิน รายละ 500,000 บาทต่อนิติบุคคล โดยมี SCB เป็นช่องทางหลักในการทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการสนับสนุนดังกล่าว

“เราปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีในด้านความยั่งยืนไปแล้ว 3,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ก็ใกล้เคียงเป้าหมายแล้วที่เราวางไว้เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท แต่หากความต้องการมีเยอะเราก็พร้อมสนับสนุน เพื่อให้เอสเอ็มอีเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ ESG ซึ่งต้องเน้นย้ำว่า ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้”