
บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM เผย ปลายปีเริ่มบริหารหนี้ “อรุณ” JV AMC กับกสิกรไทยได้ทันที หลัง ธปท.ไฟเขียวไลเซนส์ ประเมินหนี้เสียปี’68 ไหลเพิ่มขึ้นต่อ ตั้งเป้ารับซื้อหนี้บริหาร 9 พันล้านบาท และหนี้รอการขาย 9 พันล้านบาท ส่วนปี’67 ซื้อหนี้แล้ว 7-8 พันล้านบาท เร่งอัดแคมเปญ 0% นาน 2 ปี กระตุ้นยอดขาย NPA
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าในส่วนของบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ หรือ JV AMC ในส่วนของธนาคารกสิกรไทย ภายใต้ชื่อ “อรุณ” นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2567 จะได้รับใบอนุญาต (License) เนื่องจากตามประกาศของ ธปท.จะให้บริษัทขอจัดตั้งจนถึงสิ้นปี 2567 และภายหลังได้รับไลเซนส์บริษัทสามารถซื้อขายทรัพย์ และบริหารทรัพย์ได้ทันที
ขณะที่บริษัทร่วมทุนกับธนาคารออมสิน ภายใต้ชื่อ “บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด“ ได้รับใบอนุญาตแล้ว และเริ่มบริหารทรัพย์แล้ว ซึ่งมีทั้งหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และมีหลักประกัน โดยที่ผ่านมามีลูกหนี้ที่บริหารแล้ว 1 แสนราย และภายในต้นปี 2568 จะมีการโอนลูกหนี้เข้ามาเพิ่มอีก 4 แสนราย อย่างไรก็ดี ในการบริหารหนี้ช่วงต้นจะมีต้นทุนในการบริหาร แต่คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนเร็วกว่าที่คาดไว้จากเดิม
”ความร่วมมือในลักษณะบริษัทร่วมทุน หรือ JV AMC เราก็ยังมีคุยเพิ่มเติม ซึ่งมีบางรายที่เพิ่งติดต่อเข้ามา เราก็ต้องยอมรับและบอกว่า Capacity เรามีจำกัด ทั้งในเรื่องของคน เช่น อารีย์เราก็ใช้คนที่เกษียณไปแล้วมาช่วยงาน อย่างไรก็ดี แต่การพูดคุยยังไม่ตกผลึก หากไม่ทันภายในสิ้นปี เพราะไลเซนส์ต้องขอก่อนสิ้นปีนี้ ส่วนจุดคุ้มทุนในส่วนของกสิกรไทยอาจจะช้ากว่า เพราะเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน เมื่อเทียบกับ ‘อารีย์’ เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน“
นายบัณฑิตกล่าวอีกว่า แนวโนัมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบสถาบันการเงินในปี 2568 คาดว่ายังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ภาพยังไม่ชัดเจน แต่การเพิ่มขึ้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งบางแห่งตั้งสำรอง ไว้ค่อนข้างสูง หรือบางรายตั้งสำรองไม่ครบ ซึ่งมีผลต่อการตัดขายหนี้
ดังนั้น จากทิศทางดังกล่าว บริษัทตั้งเป้าวงเงินรับซื้อหนี้มาบริหารในปี 2568 ใกล้เคียงปี 2567 อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท และตั้งเป้าขายทรัพย์หนี้รอการขาย (NPA) อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท และคาดว่ายอดเก็บเงินสดจะอยู่ที่ราว 1.8 หมื่นล้านบาท จากเป้าปีนี้อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ผลการดำเนินการในปี 2567 ในส่วนของการรับซื้อหนี้มาบริหารเฉพาะในส่วนของบริษัท (ไม่รวม JVAMC) คาดว่าจะอยู่ที่ 7,000-8,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าหนี้ราว 2.6 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมาย 9,000 ล้านบาท ถือว่าต่ำกว่าปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทรับซื้อหนี้ได้ค่อนข้างเยอะ แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีบริษัทชะลอการซื้อหนี้มาบริหาร และเลือกพอร์ตมากขึ้น แต่ยังคงร่วมประมูล (Bid) เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับธนาคาร
ส่วนการขายหนี้รอการขาย (NPA) ภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 จะเห็นว่าสามารถขายทรัพย์ได้ค่อนข้างดี ทั้งทรัพย์แปลงเล็กและใหญ่ แต่จะเห็นว่าในช่วงในไตรมาสที่ 3/67 การขยายเริ่มชะลอตัวลง แต่คาดว่าทั้งปีน่าจะขายทรัพย์ได้ใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทที่แคมเปญ 0% นาน 2 ปี และปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.5% ถือว่าดอกเบี้ยค่อนข้างถูก และกรณีลูกค้าสามารถปิดบัญชีได้ภายใน 3 ปี จะได้รับส่วนลดเพิ่มอีก 10% ส่งผลให้คนที่ต้องการซื้อทรัพย์มากขึ้น
“วิธีการโตของเราจะดูว่าขายทรัพย์ได้เท่าไร เราก็จะบวกการเติบโตไป 8-10% อย่างไรก็ดี ปีนี้ยอดเก็บเงินสดอาจจะไม่ได้ตามเป้า 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเราตั้งเป้าต้นปี แต่จากงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้าทำให้กลุ่มซับคอนแทร็กต์เก็บเงินไม่ได้ก็มีผลกระทบไปด้วย ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ไม่เป็นไปตามคาดการณ์”
ดร.ธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAM กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีซึ่งเป็น Megatrend เข้ามามีบทบาทอย่างรวดเร็วในทุกภาคส่วน BAM ได้วางแนวทางขององค์กร เพื่อให้ทันต่อธุรกิจในยุคดิจิทัล 4.0 โดยมีเป้าหมายการ Transformation 3 ส่วน ได้แก่
1.Transformation for People มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ BAM ทั้งหมด ได้รับ “ประสบการณ์” ที่ดี เช่น การตั้งเป้าหมายให้ลูกค้าได้รับแผนประนอมหนี้ที่ตรงกับความต้องการและเงื่อนไขของตนเองให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการ Digitalization กระบวนการในการส่งจดหมาย Hello Letter หรือจดหมายเชิญประนอมหนี้ รวมไปถึงการจัดทำระบบ BAM Choice ซึ่งเป็นระบบ Mobile Application ที่ลูกหนี้สามารถเห็นแผนประนอมหนี้ที่เหมาะสมกับตนเอง
ตลอดจนการขอเจรจาปรับเปลี่ยนแผนประนอมหนี้ผ่านทางออนไลน์ได้ ซึ่ง BAM Choice ยังอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการชำระเงินผ่านทางช่องทางออนไลน์ และจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าอีกด้วย ในปัจจุบัน BAM เตรียมนำระบบ AI มาช่วยในการประเมินกำลังความสามารถในการชำระเงินของลูกหนี้ และวิเคราะห์แผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับลูกหนี้อีกด้วย
2.Transformation for Growth มีเป้าหมายเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มยอดผลเรียกเก็บและช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยทำ Digitalization Channel ในการสื่อสารกับลูกค้าแบบครบวงจร เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาติดต่อ BAM ทุกช่องทางได้รับประสบการณ์ที่ดีในการให้บริการ นอกจากนี้ การนำ Data มาใช้ในการวิเคราะห์และช่วยในการตัดสินใจเพื่อให้การบริหารหนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3.Transformation for Efficiency ได้มีการจัดทำระบบบริหารจัดการสินทรัพย์ เพื่อให้กระบวนการในการติดตามและแก้ไขหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดหาเครื่องมือทางด้านดิจิทัล ที่ช่วยให้พนักงานสามารถใช้ระบบสารสนเทศระดับองค์กร (Enterprise Information System : EIS) เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการดำเนินงานและการตัดสินใจ
นอกจากนี้ ในโอกาสครบรอบ 25 ปี BAM ได้จัดทำซีรีส์ภายใต้ธีม “อิสระ เดอะซีรีส์ : BAM ทางออกสู่อิสระ” 2 เรื่อง ได้แก่ ซีรีส์ “BAM อิสระจากวังวนหนี้” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ของ BAM เข้ามาประนอมหนี้และช่วยให้ลูกหนี้สามารถซื้อคืนทรัพย์หลักประกันได้ และ “BAM ฝันมีทรัพย์เป็นจริง” สานฝันชีวิตของคนทำงานวัยเริ่มต้นจากการซื้อทรัพย์ BAM ทั้งการซื้อเพื่อเป็นบ้านอยู่อาศัยและซื้อเพื่อการลงทุน โดยจะออนแอร์บนสื่อโซเชียลมีเดียผ่านแพลตฟอร์ม Facebook, YouTube และ TikTok : BAM Thailand ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน-20 ธันวาคม 2567