12 ธ.ค.แถลงผลงาน 3 เดือน “อิ๊งค์” ถกกระตุ้นเศรษฐกิจ-ตั้งกองทุนแก้หนี้

รัฐบาลเตรียมแถลงผลงานรอบ 3 เดือน เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งลดหนี้ครัวเรือน หนุนคนไทยให้มีที่อยู่อาศัยผ่านโครงการบ้านประชาชน ไม่ต้องดาวน์ ผ่อนเดือนละ 4 พัน ด้านคลังชงมาตรการเข้าบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ นายกฯเป็นประธาน งัดทุกเครื่องมือ เติมสินเชื่อรายย่อย-ตั้งกองทุนแก้หนี้-ลดหย่อนภาษี “พิชัย” รมว.คลัง ลุยแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ดันลงทุนเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เอกชนหนุนแก้หนี้พร้อมสร้างรายได้

อิ๊งค์แถลงผลงานรอบ 3 เดือน

แหล่งข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะจะร่วมแถลงผลงานครบรอบ 3 เดือน หลังเข้าบริหารประเทศ โดยเฉพาะมาตรการด้านเศรษฐกิจที่ดำเนินการไปแล้ว และกำลังจะดำเนินการในระยะต่อไป เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และสร้างบ้านประชาชน

ก่อนหน้านี้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ไปปราศรัยช่วยนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ระบุว่ารัฐบาลจะทำให้หนี้ประชาชนเบาลง คนไทยทุกคน ทุกครอบครัวถ้ามีงานทำต้องมีบ้านอยู่ได้ทุกคน

ฉะนั้น จะต้องสร้างบ้านให้คนไทยอยู่ทุกคน ถ้าเราทำเศรษฐกิจให้ดี ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท และ 700 บาทในโอกาสต่อไป ปรับเงินเดือนจาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาทในโอกาสต่อไป ในตอนนั้นใครอยากมีบ้านไม่ต้องดาวน์ ผ่อนเดือนละ 4,000 บาท สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นและเห็นได้ในรัฐบาลนี้

19 พ.ย.นัดถกกระตุ้นเศรษฐกิจ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 19 พ.ย.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร เป็นประธาน โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ พลังงาน พาณิชย์ เป็นต้น เข้าร่วมด้วย

เบื้องต้นจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป เพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโต ที่ผ่านมาเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3 ต้องเจอผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ชัดเจนต้องรอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงในวันที่ 18 พ.ย.นี้

ADVERTISMENT

แก้สินเชื่อรายย่อย-เติมสภาพคล่อง

สำหรับมาตรการที่กระทรวงการคลังจะเสนอ มีทั้งมาตรการกระตุ้นหลังน้ำท่วม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งจะมีทั้งมาตรการสินเชื่อรายย่อย เพื่อเติมสภาพคล่องให้กับประชาชน รวมถึงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ที่จะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยสินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ต่อสถาบันการเงิน

ลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ ราคาไม่เกิน 7 แสนบาทต่อราย ต่อสถาบันการเงิน และลูกหนี้สินเชื่อ SMEs รายเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่ออยู่ที่ 3 ล้านบาทต่อราย ที่มีการทำสัญญาเงินกู้ก่อนปี 2567 และมีปัญหาค้างชำระอ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2567 หรือกลุ่มที่เป็นหนี้ไม่เกิน 1 ปี

ADVERTISMENT

ผุดกองทุนแก้หนี้-ลดหย่อนภาษี

“การแก้ปัญหาหนี้ตรงนี้ รมว.คลังอยากแก้เรื่องสภาพคล่อง เพราะปัจจุบันสินเชื่อแทบไม่โต โดยระหว่างที่มีการพักดอกเบี้ยให้ลูกหนี้นั้น จะใช้แหล่งเงินจากเงินที่แบงก์นำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) แบ่งมา 0.23% ใส่ในกองทุนที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อแก้หนี้ตามมาตรการนี้ ซึ่งเมื่อครบ 3 ปีแล้ว เมื่อลูกหนี้ทำได้ครบตามเงื่อนไข แบงก์สามารถมาเคลมเงินตรงนี้ไปได้ตามจำนวนลูกหนี้ที่ทำตามเงื่อนไขได้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะที่มาตรการทางด้านภาษีที่จะลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย น่าจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาด้วย ซึ่งอาจจะให้มีผลกระตุ้นในช่วงปลายปี 2567 นี้เลย หรือต้นปีหน้า

“พิชัย” ชี้แจกเงินเฟส 2 รอจังหวะ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังกล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจวันที่ 19 พ.ย.นี้ จะรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งก่อนหน้านี้หารือกับสถาบันการเงินแล้ว แนวทางสำคัญคือ การปรับโครงสร้างหนี้เก่า เช่น การให้จ่ายหนี้ลดลง การยืดหนี้ เป็นต้น เพื่อลดภาระของลูกหนี้

ส่วนข้อเสนอเรื่องการลดเงินนำส่ง FIDF นั้น ถือเป็นรายละเอียดใหญ่ ๆ ที่มองว่า หากเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนก็ต้องทำ ไม่อยากให้พูดว่าการดำเนินการในส่วนนี้เป็นการแฮร์คัตหนี้ เพราะไม่ได้ถึงขนาดนั้น แต่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้เงื่อนไขการพูดคุยที่ลงตัวระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้มากกว่า

“สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เฟส 2 หารือในหลักเกณฑ์ที่จะดำเนินการในระยะต่อไป เพราะรัฐบาลเพิ่งเติมให้กลุ่มเปราะบาง 14 ล้านคน เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ดังนั้น ต้องดูช่วงเวลาที่จะทำมาตรการนี้ด้วย เพราะว่าถ้าเศรษฐกิจโตก็ยังไม่ต้องใช้ แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่โตต้องทำในมาตรการนี้ เป็นมาตรการระยะสั้นต่อไป

แจกเงินผู้สูงอายุ 10,000 บาท

นายพิชัยกล่าวว่า หลังจากแจกเงินสดให้กลุ่มเปราะบางเฟสแรก หลังจากนั้นมาดูอีกกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนไม่เยอะ และไม่ได้อยู่ในกลุ่มเปราะบาง แต่มีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งจะคัดคนที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเปราะบางที่แจกไปแล้ว

กระตุ้นเอกชนลงทุน-ดันจีดีพี

นายพิชัยกล่าวด้วยว่า ส่วนการลงทุนเป็นมาตรการที่จำเป็น ซึ่งประเทศไทยการลงทุนแผ่วลงไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2566 การลงทุนลดลงเหลือไม่ถึง 20% ของจีดีพี จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 40% ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจลดลง โดยจีดีพีเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.9% เท่านั้น ขณะที่ในปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ที่ 2.7% ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ

การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล จำเป็นจะต้องคำนึงถึงวินัยทางการคลังให้มากขึ้น เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงินเยอะ สร้างหนี้เยอะ ก็ต้องสร้างวินัยด้วย ซึ่งที่ผ่านมาตั้งกติกาว่า หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 70% ของจีดีพี แต่วันนี้หนี้สาธารณะมาที่ 65-66% แล้ว โอกาสในการจะกู้เงินเพิ่มในอีก 4 ปีข้างหน้าก็เหลือน้อยลง

กล่าวคือรัฐจะมีหนี้เพิ่มได้อีก 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น โดยหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 15 ล้านล้านบาทภายใน 4 ปี ดังนั้น อยากจะเห็นรัฐและเอกชนช่วยกันทำให้จีดีพีขยับขึ้นไปมากกว่า 3% ได้

“รัฐบาลยังเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนต่าง ๆ เช่น เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ วางแผนระบบน้ำ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่าง ๆ โดยการดำเนินการทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณภาครัฐอย่างจำกัด ดังนั้น การใช้เงินในส่วนนี้ก็ต้องมาจากอินฟราสตรักเจอร์ฟันด์เป็นหลัก”

น้ำท่วมฉุดจีดีพี Q3 โตแค่ 2.6%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปีนี้จะออกมาที่ 2.6% เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น น้ำท่วมและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ส่วนในไตรมาส 4 คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 4.3-4.4% โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการกระจายเม็ดเงิน 10,000 บาท ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567 ให้กับกลุ่มเปราะบาง

การประชุมบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังเตรียมที่จะเสนอเรื่องของการดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือน การดูแลภาคอุตสาหกรรมบางภาคที่ยังไม่ค่อยฟื้นตัว รวมถึงดูแลการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชน โดยการใช้ข้อมูลชนิดใหม่ ๆ

KKP แนะแก้หนี้พร้อมสร้างรายได้

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มกังวลว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 และ 4 จะออกมาแผ่วกว่าคาด เนื่องจากตัวเลข MPI ภาคการผลิตน่ากังวลมาก เพราะได้รับผลกระทบจากการแข่งขัน โดยเฉพาะจากจีน

“การออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจคงต้องคำนึง 2-3 ประเด็น ไม่ควรกระตุ้นระยะสั้นอย่างเดียว แต่ควรมีแผนระยะยาวด้วย ขณะที่มาตรการแก้หนี้ต้องทำควบคู่กับการสร้างรายได้ เป็นความท้าทายด้านการคลัง เพราะด้านหนึ่งก็อยากใช้เงิน อยากกระตุ้น แต่อีกด้านก็ต้องไปลดหนี้ เพราะหนี้สาธารณะเริ่มจะสูงขึ้น ดังนั้น ทุกบาททุกสตางค์ต้องทำให้คุ้ม”

ม.หอค้าฯ หนุนแจกเงินดิจิทัล

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มีข้อเสนอแนะต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปี มองว่าการทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 ผ่านแอปพลิเคชั่นแจกเงินดิจิทัลวอลเลตได้เนื่องจากประชาชนที่จะได้รับเงินในเฟสถัดไปนี้ จะเป็นผู้มีความพร้อมในการใช้สมาร์ทโฟน และอยู่ในสังคมเมือง ทำให้การรับเงินดิจิทัลวอลเลตไม่ใช่เรื่องยาก

การสนับสนุนเดินหน้าโครงการดิจิทัลเฟส 2 ยังเห็นสอดคล้องกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่เสนอให้รัฐบาลเดินหน้าการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟสต่อไป ใช้รูปแบบเงินดิจิทัล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบบคนละครึ่ง หรืออาจใช้คำว่า “คูณสอง”