Trump Trade กดดันค่าเงินบาทอ่อนทะลุ 35.00

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (11/11) ที่ระดับ 34.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/11) ที่ระดับ 34.00/01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีในระหว่างวันจันทร์ (11/11) เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าขึ้นในกรอบจำกัด

เนื่องจากลาดเงินสหรัฐ ปิดทำการ เนื่องในวัน Veterans Day หรือวันทหารผ่านศึกของอเมริกา จึงไม่มีการเปิดเผยตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจในคืนวันจันทร์ (11/11) ที่ผ่านมา ก่อนเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าอย่างมากตลากวันอังคาร (12/11) หลังตลาดเงินสหรัฐกลับมาเปิดทำการประกอบกับราคาทองคำยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากแรงกดดันของ “Trump Trade”

โดยในช่วงปลายสัปดาห์ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 107.06 (14/11) แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 จากการคาดการณ์ว่านโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นและอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรืออาจยุติวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง หลังจากพรรครีพับลิกันภายใต้การนำของนายทรัมป ใกล้จะได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะส่งผให้พรรคครองอำนาจในสภาคองเกรสได้ทั้งหมด และเปิดทางให้นายทรัมป์ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ต.ค. เร่งตัวขึ้น 2.6% เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือน ก.ย. และดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 3.3% เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือน ก.ย. ในวันพฤหัสบดี (14/11) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 2.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือน ก.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือน ต.ค. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือน ก.ย. ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 3.0% หลังจากปรับตัวขึ้น 2.9% ในเดือน ก.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน ต.ค. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือน ก.ย. ส่วนจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 217,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว

ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ราย ในวันศุกร์ (15/11) Dollar Index ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 106.9 ภายหลังตัวเลขเงินเฟ้อด้านผู้บริโภค (CPI) และตัวเลขเงินเฟ้อด้านผู้ผลิต (PPI) ในเดือน ต.ค. ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน ก.ย. และถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณไม่รีบร้อนปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% และสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เฟดสามารถดำเนินนโยบายการเงินอย่างรอบคอบระมัดระวัง นอกจากนี้ กรรมการเฟดคนอื่น ๆ ยังคงมองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน พร้อมกับย้ำว่าภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ไม่ได้ส่งสัญญาณใด ๆ ที่ทำให้เฟดจำเป็นต้องรีบร้อนในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุนจากชัยชนะในการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐและการครองอำนาจเบ็ดเสร็จในสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกัน ซึ่งจะทำให้การผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของทรัมป์เป็นไปอย่างรวดเร็ว

โดยผลการนับคะแนนล่าสุดพบว่า พรรครีพับลิกันได้ที่่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 218 ที่นั่ง ซึ่งเพียงพอสำหรับการครองเสียงข้างมาก ขณะที่พรรคเดโมแครตได้ไปเพียง 208 ที่นั่ง พรรครีพับลิกันยังสามารถครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา โดยได้ 52 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเดโมแครตได้ไปเพียง 47 ที่นั่ง โดยล่าสุดเครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักราว 59.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25%-4.50% ในการประชุมเดือน ธ.ค. จากเดิมที่ให้น้ำหนักราว 82.5%

ADVERTISMENT

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงต้นสัปดาห์ จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวการแต่งตั้งนาย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ (11/11) โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า การแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อสะท้อนความตั้งใจของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ทาง ธปท.ผ่อนคลายนโยบายลง แต่โดยภาพรวมแล้วมองว่าตลาดยังคงต้องมีความระมัดระวังเนื่องจากยังมีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง ในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินบาทยังคงปรับตัวอ่อนค่าตามทิศทางตลาดโลกและราคาทองคำ

โดยตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าของนายทรัมป โดยวันที่ 13 พ.ย.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 87.1 ในเดือน ก.ย.

เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย ซึ่งส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์การเกษตร และปุ๋ยเคมี ในวันที่ 14 พ.ย. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน ต.ค. ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 8 เดือน สู่ระดับ 56.0 จากระดับ 55.3 ในเดือน ก.ย. เนื่องจากประชาชนคลายความกังวลจากสถานการณ์น้ำท่วม และรัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครการแจกเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเปราะบางและผู้พิการ ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยคล่องตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 100 ซึ่งเป็นระดับปกติ บ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพยังคงสูง และประชาชนยังคงมีความระมัดระวังต่อการจับจ่ายใช้สอย ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.19-35.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/11) ที่ระดับ 34.91/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (11/11) ที่ระดับ 1.0727/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (08/11) ที่ระดับ 1.0771/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโรโดยค่าเงินยูโรยังเคลื่อนไหวอ่อนค่าต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ โดยได้รับแรงกดดันจากผลการเลือกตั้งของสหรัฐ และความกังวลของตลาดต่อนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในส่วนของกำแพงภาษี นอกจากนี้นายฟรองซัวส์ วิลเลรอย เดอ กาลโฮ ประธานธนาคารกลางฝรั่งเศสและสมาชิกธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า

นโยบายเศรษฐกิจของนายทรัมปหลังนักลงทุนยังคงรับข่าวชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เนื่องจากประเทศทางยุโรปเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ เป็นลำดับที่ 2 รองจากจีน นอกจากนี้ ประธานแบงก์ชาติฟินแลนด์ คาดว่า ECB จะปรับลดดอกเบี้ยเดือน ธ.ค. 67 แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการต่อไปในอัตราเท่าใด เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในยูโรโซนอยู่ในแนวโน้มที่ดี และแนวโน้มการเติบโตดูเหมือนจะอ่อนตัวลง ทั้งนี้ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0524-10579 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโ และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/11) ที่ระดับ 1.0544/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (11/11) ที่ระดับ 153.08/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (08/11) ที่ระดับ 152.22/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในเช้าวันจันทร์ (11/11) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เผยแพร่สรุปการประชุมนโยบายเดือน ต.ค. โดยคณะกรรมการ BOJ มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งกรรมการบางรายเตือนว่าการขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจทำให้ตลาดการเงินกลับมาผันผวนได้

นอกจากนี้ กรรมการส่วนใหญ่ในคณะยังเน้นว่าต้องติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เพื่อประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะรับมือกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม กรรมการบางรายเห็นว่า BOJ ควรประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่า หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ BOJ ก็พร้อมจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่า ญี่ปุ่นมีบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 15.82 ล้านล้านเยน (1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือน เม.ย.-ก.ย. ซึ่งเป็นครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2567

โดยได้รับแรงหนุนจากผลตอบแทนการลงทุนต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเมื่อเงินเยนอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดีวันที่ 13 พ.ย. ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (CGPI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดราคาสินค้าและบริการที่บริษัทขายให้แก่กัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.9% และสูงกว่าเดือน ก.ย.ที่เพิ่มขึ้น 3.1% ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจของ BOJ เกี่ยวกับระยะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมีความยากลำบากมากขึ้น

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ซังเคอิ (Sankei) รายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเป็นเงินทุนสำรองสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำและบรรเทาผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าจะใช้เงินทุนเพิ่มเติมราว 13.5 ล้านล้านเยน (8.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยนายอิชิบะ ชิเงรุ นายกรัฐมนตรี กำลังวางแผนที่จะสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ 22 พ.ย.นี้ ส่วนในวันศุุกร์ (15/11) รัฐบาลญี่ปุ่นเปิเผยข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 0.9% ในไตรมาส 3/2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันสองไตรมาส และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.7% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) (นายคาซูโอะ อุเอดะ) มีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์และแถลงข่าวที่เมืองนาโกย่าของญี่ปุ่นในวันจันทร์หน้า (18/11) ซึ่งตลาดจะจับตาอย่างใกล้ชิดเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่า BOJ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. หรือในเดือน ม.ค.ปีหน้า หลังจากข้อมูล GDP ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นแสดงถึงการบริโภคที่แข็งแกร่งเกินคาด ทั้งนี้ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 152.62-156.74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/11) ที่ระดับ 156.43/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ