เงินบาทแข็งค่า สอดคล้องดอลลาร์ปรับตัว หวั่นนโยบายทรัมป์กระตุ้นเงินเฟ้อเพิ่มและอาจทำให้เฟดชะลอลดดอกเบี้ย ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group ให้น้ำหนัก 58.7% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/11) ที่ระดับ 34.74/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/11) ที่ระดับ 34.81/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่่มขึ้น 0.8% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 2.85% ในเดือน ต.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.98% ในเดือน ก.ย. นอกจากนี้ดัชนีราคานำเข้าเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน ต.ค. หากเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.1% หลังจากลดลง 0.4% ในเดือน ก.ย.
การปรับตัวขึ้นของดัชนีราคานำเข้าได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของราคาพลังงาน โดยดอลลาร์มีแนวโน้มทำสถิติพุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 1 เดือนในสัปดาห์ที่แล้ว จากการคาดการณ์ที่ว่า นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะกระตุ้นเงินเฟ้อและส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ขณะที่ถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ก็ได้ทำให้นักลงทุนลดน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน ธ.ค. ซึ่งนักลงทุนลดน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน ธ.ค.
หลังการเปิดเผยถ้อยแถลงของนายพาวเวลล์ ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 58.7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน ธ.ค. หลังจากให้น้ำหนัก 72.2% ก่อนการกล่าวถ้อยแถลงของนายพาวเวลล นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 54.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน ม.ค. 2568
ด้านปัจจัยภายในประเทศ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงผลการเลือกตั้งสหรัฐที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งและจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ สมัยที่ 2 ว่าหากเปรียบเทียบกับช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อครั้งก่อน นโยบายที่ออกมาเริ่มกระทบกับเศรษฐกิจโลกตั้งแต่เริ่มประกาศนโยบายในปี 2561 และกระทบกับเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2562-2563 โดยกระทบกับเรื่องการค้าและการลงทุนจากนโยบายการกีดกันทางการค้าที่มีมากขึ้น
ทั้งนี้จากนโยบายของทรัมป์ที่ประกาศออกมาว่าจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไม่น้อยกว่า 60% จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น ปัจจัยจะมาจากความรุนแรงของมาตรการ และช่วงเวลาที่จะมีการบังคับใช้ ในช่วงที่ทรัมป์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ในช่วงต้นปีหน้าก็เป็นไปได้ว่าจะมีการเอามาตรการขึ้นมาบังคับใช้ได้เลย เพราะมีข้อมูลที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว จะเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว
โดย สศช.คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะขยายตัวได้ 3% ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.3-3.3% มีค่ากลางอยู่ที่ 2.8% โดยคาดว่าการส่งอกจะชะลอตัวลงจากปีนี้จาก 3.8% เหลือ 2.6% โดยในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.73-34.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.80/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/11) ที่ระดับ 1.0727/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/11) ที่ระดับ 1.0565/66 ดอลลาร์สหรัฐ /ยูโร โดยถูกกดดันจากการเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทจดทะเบียน และความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบด้านนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อเศรษฐกิจโลกและภาคธุรกิจ รวมถึงการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ
ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0545-.0575 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0566/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาเช้าวันนี้ (18/11) ที่ระดับ 154.68/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/11) ที่รดับ 155.36/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยยังได้รับแรงหนุนหลังจากหลังคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมร่วมกับกลุ่มผู้นำธุรกิจในเมืองนาโกย่าของญี่ปุ่นในวันนี้ (18/11)
โดยระบุว่า BOJ จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ 0.25% หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ BOJ โดยในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 153.84-155.14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 154.73/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของสหรัฐ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน พ.ย. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) (18/11), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญตก่อสร้างเดือน ต.ค. (19/11), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (ELA) (20/11), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (21/11), ดัชนีการผลิตเดือน พ.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (21/11), ยอดขายบ้านมือสองเดือน ต.ค. (21/11), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน พ.ย.จาก S&P Global (22/11), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน พ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (22/11)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.10/-6.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.60/-2.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ