แบงก์กางแผนอุ้มลูกหนี้ หั่นค่างวด “ปรับจ่าย Step Up” 3 ปี

Pay off debt

ใกล้คลอดเต็มแก่สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ที่ทางกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ร่วมมือกัน ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหา ไม่ใช่การ “แฮร์คัต” ที่สุดโต่งเกินไป และอาจจะเกิดพฤติกรรมการเบี้ยวหนี้ได้ แต่จะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นเชิงรุกมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น

วางกรอบชำระหนี้ Step Up

สำหรับรายละเอียดมาตรการนั้น “แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน” เปิดเผยว่า มาตรการหลัก ๆ จะเข้าไปช่วยลดภาระการผ่อนชำระให้แก่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ในกลุ่มผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่ 30 วัน แต่ยังไม่เกิน 90 วัน หรือกลุ่ม Stage 2 (SM) และกลุ่มเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แล้ว แต่ไม่เกิน 1 ปี โดยเป็นลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ ไม่เกิน 7 แสนบาท หรือสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท

“ธนาคารจะเข้าไปช่วยลดภาระการผ่อน โดยปีที่ 1 ลดค่างวดเหลือ 50% ปีที่ 2 ลดค่างวด 30% ผ่อนชำระ 70% และปีที่ 3 ลดค่างวด 10% ผ่อนชำระ 90% จากนั้นปีที่ 4 กลับมาจ่ายเต็ม โดยยอดชำระค่างวดที่ลูกค้าจ่ายจะถูกนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด ส่วนดอกเบี้ยจะถูกพักไว้ หากลูกค้าสามารถทำตามเงื่อนไขภายใน 3 ปี จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยให้เลย”

ตั้งกองทุน-แบงก์ร่วมชดเชยดอกเบี้ย

ในส่วน “แหล่งเงิน” ที่นำมาช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกค้าจะมาจาก 2 ส่วน คือ 1.เงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) แบ่งครึ่งหนึ่ง หรือ 0.23% ส่งเข้ากองทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่ และ 2.สถาบันการเงินชดเชย (Subsidy) ส่วนหนึ่ง ตรงนี้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนลูกค้าเข้าโครงการ และขึ้นกับอัตราการผ่อนได้ของลูกค้า เช่น ผ่อนได้ 1 งวด ธนาคารจะชดเชยให้ เป็นต้น

“อย่างไรก็ดี ในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่กำหนดวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท ยังต้องมีการพูดคุยในรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น จะนับวงเงินปล่อยกู้ครั้งแรกหรือไม่ หรือรวมวงเงินส่วนเพิ่ม (Top Up) หรือวงเงินประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วยหรือไม่ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยแคมเปญ 3 ปีแรก ซึ่งอัตราการผ่อนชำระจะเป็นแบบขั้นบันได (Step Up) อยู่แล้ว กลุ่มนี้ก็มีการพูดคุยกันอยู่ว่าจะทำอย่างไร แต่เชื่อว่า ธปท.จะให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งพิจารณาตามดุลพินิจเอง ไม่ได้ออกเกณฑ์บังคับตายตัว”

ADVERTISMENT

ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ จะใช้หลักการเดียวกันในการช่วยลดอัตราผ่อนชำระ แต่อาจจะยุ่งยากกว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยอาจจะต้องมีการปรับระบบหลังบ้านในการคำนวณดอกเบี้ย เนื่องจากสินเชื่อรถยนต์จะใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบคงที่ (Flat Rate) ไม่ได้อ้างอิง แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) จึงต้องใช้เวลาในการปรับระบบ ซึ่งประเด็นนี้ยังอยู่ระหว่างพูดคุยและพิจารณากันอยู่

กราฟฟิกแผนการชำระหนี้

ADVERTISMENT

“การลดอัตราการผ่อนชำระให้ จะกำหนดเป็นเทียร์ เพื่อหวังให้ลูกค้าสามารถประคองตัวได้ โดยเงินที่ผ่อนมา ก็จะนำไปตัดเงินต้นเลย แต่ระหว่างนี้ อาจจะต้องมีเรื่องการปรับระบบ ทั้งนี้ คาดว่ารายละเอียดมาตรการจะออกมาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่จะออกเป็นของขวัญปีใหม่”แหล่งข่าวระบุ

ทุ่ม 1.4 ล้านล้าน พักดอกเบี้ย

ก่อนหน้านี้ สมาคมธนาคารไทย (TBA) ระบุถึงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามที่กระทรวงการคลัง ธปท. และสมาคมธนาคารไทย เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ทั้งรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีภาระหนี้สูง และประสบความยากลำบากในการชำระหนี้ โดยจะมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยสินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่อาศัย ไม่เน้นบ้านเก็งกำไร สินเชื่อรถยนต์ ราคาไม่เกิน 7 แสนบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน และสินเชื่อ SMEs รายเล็ก วงเงินอยู่ที่ 3 ล้านบาทต่อราย

และมีปัญหาเริ่มค้างชำระอ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2567 หรือเป็นหนี้ไม่เกิน 1 ปี (อ้างอิงตามประกาศของเครดิตบูโร) เพื่อป้องกันเกิดวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ (Moral Hazard) โดยจะมีศูนย์ลงทะเบียนลูกหนี้ผ่าน ธปท.

โดย “ผยง ศรีวานิช” ประธานสมาคมแบงก์ ระบุว่า แหล่งเงินจะมาจาก 2 ส่วน คิดเป็นเม็ดเงินความช่วยเหลือรวมอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี ประกอบด้วย 1.เงินนำส่ง FIDF สัดส่วน 0.23% ซึ่งเม็ดเงินจะอยู่ที่ประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาทต่อปี และ 2.เงินสนับสนุนจากภาคธนาคาร ซึ่งขึ้นอยู่กับลูกหนี้ของแต่ละธนาคาร

“มาตรการแก้หนี้ จะเป็นจุดตั้งต้นในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ไม่ใช่มาตรการที่มุ่งแก้ปัญหาชั่วคราว โดยทางรัฐบาลจะต้องมีมาตรการในการดึงทุกภาคส่วนเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบถึงภาระและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ ไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้เกินกำลังหรือเกินความจำเป็น” ประธานสมาคมแบงก์ระบุ