การขับเคลื่อนภาคการเงิน ในการสนับสนุนภาคธุรกิจของไทยปรับตัวสู่ความยั่งยืน หรือ Financing the Transition เริ่มมาระยะหนึ่งแล้ว
ธปท.สั่งแบงก์สแกนพอร์ตสินเชื่อ
สำหรับความคืบหน้า ล่าสุด นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.ให้สถาบันการเงินสำรวจพอร์ตสินเชื่อธุรกิจของตัวเอง ว่ามีเซ็กเตอร์ไหน หรือกลุ่มธุรกิจใดบ้าง ที่มีนัยต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดยให้เลือกมาอย่างน้อย 1 เซ็กเตอร์ แล้วเริ่มทำแผนธุรกิจของปี 2568
“ตอนนี้ให้แบงก์สแกนพอร์ตสินเชื่อของตัวเอง แล้วเลือกมาอย่างน้อย 1 เซ็กเตอร์ เพื่อทำแผนธุรกิจในปี 2568 เพื่อจะวัดว่าลูกค้าในเซ็กเตอร์หรือธุรกิจดังกล่าว ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่เท่าไร และตั้งเป้าว่าพอร์ตที่เลือกมาจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือเท่าไร ภายในเมื่อไหร่ ซึ่งจะต้องทำแผนธุรกิจว่า จะทยอยลดไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ภายในเมื่อใด รวมถึงจะปล่อยสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนการปรับตัว ในพอร์ตนี้อย่างไรบ้าง”
ทั้งนี้ ตอนนี้หลายแบงก์ก็ได้เริ่มทำ ควบคู่กับการออกโปรดักต์โปรแกรมเพื่อสนับสนุนลูกค้าในการปรับตัว โดยหลายธนาคารเลือกเซ็กเตอร์ “พลังงาน” แต่ก็มีบางธนาคารที่เลือกเซ็กเตอร์อื่น เนื่องจากเซ็กเตอร์ที่มีนัยของแต่ละธนาคารจะไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี ธปท.ต้องการให้ธนาคารเริ่มวางแผน 1 เซ็กเตอร์ก่อน เพราะจะได้เริ่มทดลอง แล้วค่อยขยายไปทำในเซ็กเตอร์อื่นได้
ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ออก Standard Practice เป็นแนวนโยบายให้ธนาคารเริ่มปรับกระบวนการภายใน ซึ่งตอนนี้แบงก์กำลังทยอยปรับ และให้ลองประเมินตัวเองว่า ยังมีช่องว่างตรงไหน และจะมีแผนปิด GAP ได้ภายในเมื่อใด แต่ยังไปไม่ถึงเรื่องของเกณฑ์เงินกองทุน โดย ธปท.อยากให้ธนาคารค่อย ๆ ปรับ เพราะหากเร่งทุกอย่างอาจจะสะดุด และเพื่อให้เหมาะกับบริบทของไทย แต่ก็ต้องไม่ช้าไปด้วย
“การกำหนดอย่างน้อย 1 เซ็กเตอร์ จะทำให้แบงก์มีเป้าหมายชัดเจน มีแผนที่ชัดเจนที่ค่อย ๆ ปรับตัว โดยธนาคารจะต้องส่งแผนที่กล่าวมาให้กับ ธปท.ภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งเราขยับแผนจากเดิมต้องส่งปีนี้ แต่เราอยากให้เขาเริ่มตัวสินเชื่อ Financing the Transition ที่เราเพิ่งเปิดตัวไป เพื่อให้แบงก์เริ่มออกโปรดักต์สนับสนุนลูกค้าก่อน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีให้ปรับตัวก่อน ส่วนแผนที่ส่งให้เราก็ขยับไปเป็นอีกปี”
แบงก์เลือกเซ็กเตอร์-เร่งแผนปี’68
นายผยง ศรีวนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สำหรับเซ็กเตอร์ธุรกิจเป้าหมายที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายของ ธปท.ที่กำหนดให้สถาบันการเงินเลือกและส่งแผนไปยัง ธปท.นั้น ในส่วนธนาคารกรุงไทยเลือกเซ็กเตอร์ “โรงไฟฟ้า” หรือ Power Generation
โดยการเลือกเซ็กเตอร์โรงไฟฟ้า มาจากหลายองค์ประกอบในการพิจารณา คือ 1.ขนาดที่มีในพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร 2.ลูกค้าของธนาคารมีความพร้อมของระบบเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการผลิตโดยตรง ซึ่งสามารถจะตรวจวัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และมีแผนที่เข้ามาร่วมกับธนาคารได้
“Selected Industry ที่แบงก์ชาติให้ส่ง เราก็ได้มีการแจ้งไปในเรื่องของ Power Generation โดยเราจะทำในเรื่องของ Net Zero ผ่าน Power Generation ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง รวมถึงมีอยู่ในลิสต์ทั้งหมด 12 เซ็กเตอร์ โดยระหว่างทางจะเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เพราะต้องใช้ทรัพยากรสูงมาก ลูกค้าต้องมีระบบมีการวัด และมีระบบในการเก็บข้อมูล และมีการพัฒนาต่อเนื่อง รวมถึง
มีเงินลงทุนใหม่ด้วย”
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการช่วยลูกค้าปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน ตามแผนของ ธปท. โดยธนาคารจะเริ่มต้นใน 2 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ พลังงาน และขนส่ง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงเป็นอันดับ 2 ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ ธปท.ต้องการเห็น
“แผนที่จะส่งให้ ธปท.จะมีในเรื่องของกลยุทธ์ในการช่วยเหลือ เทคโนโลยีหรือโซลูชั่นที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือลูกค้า รวมถึงเป้าหมายการลดคาร์บอนภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และอย่างไร โดยแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 และในเฟสถัดไป ธนาคารจะเพิ่มเซ็กเตอร์อื่น ๆ เข้าไปเพิ่มเติม แต่คาดว่าแผนดำเนินการจะรวดเร็วขึ้น เนื่องจากธนาคารมีกรอบกติกา Frame Work ชัดเจนขึ้น”
นายไพโรจน์กล่าวว่า ภายใต้แผน “GO Sustainable with krungsri” กรุงศรีตั้งเป้าให้พอร์ตสินเชื่อสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ซึ่งในเฟสแรก เป็นการหยุดการปล่อยสินเชื่อถ่านหิน และเพิ่มการให้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายภายในปี 2573 ที่ 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันปล่อยไปแล้ว 7.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถทำได้เร็วกว่าเป้าหมายที่วางไว้ และจะทบทวนเป้าการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 2568 นี้
นายเจสัน ลี ผู้บริหารฝ่ายความยั่งยืน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ส่งแผน Transition Plan ให้กับ ธปท.แล้วตั้งแต่เดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยธนาคารจะโฟกัสลูกค้าใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ (Oil & Gas) และพลังงาน (Power) ในการปรับเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ
เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มนี้มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนค่อนข้างสูงถึง 70% จากทั้งหมดที่มี 9 เซ็กเตอร์อุตสาหกรรมที่เข้าเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง หรือ Brown Sector
ทั้งนี้ เบื้องต้นธนาคารได้เข้าไปพูดคุยกับลูกค้า 2 กลุ่มในการวางแผน เป้าหมาย และระยะเวลาการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อนำไปสู่ Less Brown ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในประเทศไทยมีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนอยู่ประมาณ 300 บริษัท
โดยมีความต้องการทางการเงินราว 20,000 ล้านบาท หรือโดยเฉลี่ยบริษัทละ 1,500-5,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 24 เดือน หรือนับจากเดือน ต.ค. 2567-2569
“เราส่งแผนให้แบงก์ชาติเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการวางแผนร่วมกับลูกค้า ซึ่งลูกค้ารายใหญ่บางรายทำอยู่แล้ว บางรายต้องเริ่มทำใหม่ แต่วงเงินอาจจะติดเพดานเกณฑ์การปล่อยกู้ SLL หรือ Single Lending Limit เหล่านี้เราต้องช่วยลูกค้าวางแผน ซึ่งอย่างน้อยภายในปี 2573 กลุ่มพลังงานและน้ำมัน-ก๊าซจะต้องลดคาร์บอนขั้นต่ำให้ได้ 35-38%”