หุ้นกลุ่ม ICT ไตรมาส 4/2567 เข้าไฮซีซัน บล.เอเซีย พลัส ประเมินกำไรดีขึ้น QOQ และ YOY ตามการโตของหุ้นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่เป็นตัวหลักผลักดันกำไรกลุ่ม ลุ้นฤดูเปลี่ยนมือคลื่นปี 2568
นางสาวปิยะธิดา สนธิสมบัติ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ในงวดไตรมาส 3/67 หุ้นในกลุ่ม ICT ที่ฝ่ายวิจัยศึกษาคือ ADVANC, INTUCH, TRUE, JMART และ 3BBIF มีกำไรสุทธิรวมกัน 1.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 81% ของกำไรสุทธิโดยรวมของหุ้นในกลุ่ม ICT ทั้งหมด ทั้งนี้กำไรสุทธิของหุ้นทั้ง 5 บริษัทที่ศึกษา รวมรายการพิเศษสุทธิเป็นค่าใช้จ่ายราว 3.8 พันล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์โครงข่ายของ TRUE และ 3BBIF ซึ่งถือว่าภาพกำไรสุทธิโดยรวมเติบโต 24% เทียบจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) และพลิกจากเดิมที่ขาดทุนสุทธิ รวม 157 ล้านบาท ในงวดไตรมาส 3/66 ที่มีรายการพิเศษสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์โครงข่ายของ 3BBIF
แม้ในไตรมาส 3 ของทุกปีจะเป็น Low season ของธุรกิจมือถือที่เป็นตัวหลักผลักดันกำไรของกลุ่ม แต่ภาพรวมกำไรสุทธิของกลุ่มในงวดไตรมาส 3/67 ยังโตได้ QOQ เพราะได้แรงผลักดันจากผลประกอบการของทั้ง TRUE และ BBIF ที่ดีขึ้น โดย TRUE มีผลขาดทุนสุทธิ 810 ล้านบาท ดีกว่างวดไตรมาส 2/67 ที่ขาดทุนสุทธิ 1.9 พันล้านบาท เนื่องจากมีรายการพิเศษจากการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์โครงข่าย เป็นจำนวนสูงถึง 4.3 พันล้านบาท
ขณะที่งวดไตรมาส 3/67 การตั้งด้อยค่าฯลดลงเหลือราว 3.9 พันล้านบาท ส่วน 3BBIF พลิกจากขาดทุนสุทธิ 305 ล้านบาท ในงวดไตรมาส 2/67 เป็นกำไรสุทธิ 1.2 พันล้านบาท เพราะไตรมาสก่อนมีจากการปรับลดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในสินทรัพย์โครงข่าย 1.8 พันล้านบาท ขณะที่งวดไตรมาส 3/67 รายการดังกล่าวมีจำนวนลดลงเหลือเพียง 300 ล้านบาท และเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) จะเห็นว่าภาพรวมกำไรสุทธิของหุ้นทั้ง 5 บริษัท ดีขึ้นได้เพราะเกือบทุกบริษัทมีการดำเนินงานที่ดีขึ้น
แต่โดยสาเหตุหลักแล้วกำไรรวมของกลุ่มได้แรงหนุนจาก 3BBIF ที่พลิกเป็นมีกำไรสุทธิได้ 1.2 พันล้านบาท จากเดิมซึ่งขาดทุนสุทธิ 1.0 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 3/66 จากการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์โครงข่ายราว 1.2 หมื่นล้านบาท จากการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นจากเดิมที่มี กลุ่ม บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดย 3BBIF ได้กลายเป็นบริษัทภายใต้กลุ่ม ADVANC แทนตั้งแต่เดือน ส.ค. 2566
หากไม่รวมรายการพิเศษ หุ้นที่ศึกษาดังกล่าวมีกำไรปกติรวมกันอยู่ที่ราว 1.7 หมื่นล้านบาท +4% QOQ, +43% YOY โดยหุ้นที่มีความโดดเด่น และเป็นตัวหลักผลักดันกำไรปกติกลุ่มในงวดไตรมาส 3/67 คือ TRUE ที่มีกำไรปกติดีขึ้นเป็น 3.1 พันล้านบาท +200% QOQ และพลิกจากงวดไตรมาส 3/66 ที่ขาดทุนปกติ 1.1 พันล้านบาท เพราะควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ดี แม้จะมีรายได้ที่ค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้คาดเป็นเพราะหลังจากมีการควบรวมกับดีแทคแล้วตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/67 ทาง TRUE ได้มีการปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ ซึ่งช่วยให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนลดลง
คาดกำไรปกติไตรมาส 4 โตเร่งตัวขึ้น
คาดหวังกำไรโดยรวมของกลุ่มในไตรมาส 4/67 ที่ดีขึ้น QOQ และ YOY ตามการเติบโตของหุ้นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่เป็นตัวหลักผลักดันกำไรกลุ่ม โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้
1.ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 4/67 ที่น่าจะโตได้ดีกว่าใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เพราะหากอิงตัวเลขคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำหรับ GDP ทั้งปี 2567 ที่ 2.7% โดยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ GDP ของไทยโตด้วยอัตราเฉลี่ย 2.3% บ่งชี้ว่าไตรมาส 4/67 จะต้องโตในอัตรา 3.9%
2.กำลังซื้อของผู้บริโภคจะสูงขึ้นจาก 2.1. มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ โดยเฉพาะการแจกเงิน 10,000 บาท แก่กลุ่มเปราะบาง กลุ่มแรก จำนวน 14 ล้านคน ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. 2567 ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อในกลุ่มดังกล่าวสูงขึ้น โดยคาดจะส่งผลบวกต่อการจับจ่ายที่ต่อเนื่องมาในช่วงไตรมาส 4/67 ด้วย
2.2.ไตรมาส 4 เป็นฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้เกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ใน ต่างจังหวัดมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังการเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการใช้งานมือถือ และ 2.3.หลายบริษัทมีการจ่ายโบนัสแก่พนักงานในช่วงปลายปี
3.ได้ผลบวกจากฤดูกาล โดยช่วงไตรมาส 4 เป็น High season ของกลุ่ม ICT เนื่องจาก 3.1.เป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง และส่งท้ายปีที่ผู้บริโภคมักมีการใช้งานมือถือสูงกว่าช่วงอื่น ๆ รวมทั้งการซื้อมือถือเครื่องใหม่ 3.2.เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว คาดต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยมากขึ้น รวมทั้งคนไทยที่มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เป็นบวกต่อบริการที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยว เช่น บริการซิมนักท่องเที่ยว, บริการโทรข้ามแดนอัตโนมัติของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่าง ADVANC และ TRUE รวมทั้ง INTUCH ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ADVANC 3.3.เป็นไตรมาสแรกที่มักจะได้อานิสงค์จากการจำหน่ายสินค้าไอโฟนรุ่นใหม่ สำหรับไตรมาส 4 ปีนี้คือ ไอโฟน 16
เตรียมเข้าสู่ปี’68 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง
ฝ่ายวิจัยมองว่ามีหลายปัจจัยทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่รออยู่ในปี 2568 ซึ่งจะกระทบหุ้นในกลุ่ม ICT ดังนี้ 1.การควบรวมกันระหว่าง INTUCH กับ GULF หลังจากที่คณะกรรมการบริหารของ INTUCH และ GULF ได้อนุมัติให้ทั้ง 2 บริษัทมีการควบรวมกันเพื่อเป็นการปรับโครงสร้างภายในกลุ่ม โดยได้รับมติอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัทตั้งแต่ 3 ต.ค. 2567
โดยต่อมาได้มีการแจ้งให้เจ้าหนี้ของทั้ง 2 บริษัท รับทราบมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเจ้าหนี้มีเวลา 2 เดือน ที่จะคัดค้าน และในระหว่างนี้ INTUCH และ GULF จะดำเนินการ รับซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบรวม ซึ่งปรากฏว่าไม่มีผู้ถือหุ้นที่คัดค้านรายใดมาเสนอขายหุ้น เนื่องจากราคาที่จะรับซื้อ (ราคาปิด ณ วันที่ 2 ต.ค. 2567 ซึ่งเป็นวันก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น) ต่ำกว่าราคาตลาด
และทำคำเสนอซื้อหุ้นแบบสมัครใจ (Voluntary Tender Offer-VTO) จากผู้ถือหุ้น ADVANC ที่ INTUCH เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และหุ้น THCOM ที่ GULF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยเชื่อว่าผู้ถือหุ้นของ ADVANC และ THCOM จะไม่นำหุ้นมาขาย เพราะราคารับซื้อต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบันมาก (ราคารับซื้อ ADVANC ที่ 211.43 บาท และ THCOM ที่ 11.00 บาท)
ทั้งนี้คาดว่ากระบวนการควบรวมกันระหว่าง INTUCH และ GULF จะเดินหน้าต่อไป โดยการควบรวมจะเกิดขึ้นได้ภายในไตรมาส 2/68 ตามกรอบเวลาที่ได้วางไว้ และในท้ายที่สุดแล้วเมื่อควบรวมกันเสร็จสิ้นกลายเป็นบริษัทใหม่ (New Co) แล้วหุ้น New Co จะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในกลุ่มพลังงาน ขณะที่หุ้น INTUCH เดิมจะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ไป ซึ่งจะทำให้ทั้งมูลค่าตามราคาตลาด (Market capitalization) และกำไรของกลุ่มลดลงไป โดยประเมิน ว่า Market cap. ของกลุ่มจะลดลงไปราว 3.3 แสนล้านบาท (อิงราคาปิดวันที่ 15 พ.ย. 2567) หรือลดลงราว 17% ขณะที่กำไรกลุ่มจะลดลงไปราว 1.4 – 1.5 หมื่นล้านบาท/ปี
2.การประมูลใบอนุญาตคลื่นที่กำลังจะหมดอายุ เนื่องจากในปี 2568 ใบอนุญาตคลื่น 850 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz ที่ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) กำลังจะหมดอายุลง แต่ที่ผ่านมา NT ได้ทำสัญญาให้ ADVANC และ TRUE ใช้คลื่นดังกล่าวในการดำเนินงานมาโดยตลอด โดย ADVANC ใช้คลื่น 2100 MHz ให้บริการ 3จี และ 4จี ส่วน TRUE ใช้คลื่น 850 MHz และ 2300 MHz ให้บริการ 3จี และ 4จี
ดังนั้นเมื่อใบอนุญาตกำลังจะสิ้นสุดลง จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ใช้คลื่นดังกล่าวต่อไป เนื่องจากจะต้องคืนคลื่นให้แก่ กสทช. เพื่อนำไปประมูลอีกครั้ง ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าทั้ง ADVANC และ TRUE ย่อมต้องการที่จะใช้คลื่นดังกล่าวต่อไปเพื่อให้มีความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ จึงน่าจะเข้าร่วมประมูลหากมีการเปิดประมูล แต่อย่างไรก็ตามทั้ง ADVANC และ TRUE ยังมีคลื่นอื่น ๆ อยู่ในมืออีกมาก จึงคาดว่าทั้ง 2 บริษัทจะไม่กังวลเรื่องการประมูลมากนัก โดยจะพิจารณาทั้งราคา และเงื่อนไข ในการประมูลเป็นหลัก
3.การเข้ามาของผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์, Cloud รายใหญ่ เป็นบวกเล็กน้อย ต่อผู้ให้บริการมือถือ การที่บริษัทข้ามชาติรายใหญ่ที่มีทั้งผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ผู้ให้บริการ AI และผู้ให้บริการคลาวน์ (Cloud) มีแผนจะเข้ามาลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยปัจจุบันได้มีบริษัทที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กว่า 45 ราย ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกันมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท
ฝ่ายวิจัยมองว่าแผนการลงทุนดังกล่าวมีผลบวกต่อกลุ่มผู้ให้บริการมือถือ อย่าง ADVANC และ TRUE อยู่บ้าง แม้ว่าบริษัทข้ามชาติเหล่านั้นดูจะเป็นคู่แข่ง ในการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ เช่นเดียวกันกับที่กลุ่ม ADVANC และ TRUE ให้บริการอยู่หรือเตรียมจะให้บริการ โดยกลุ่ม ADVANC ที่เป็นการร่วมมือกัน ระหว่าง 3 บริษัท คือ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์ยี (GULF), Singtel และ ADVANC ที่เตรียมให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ภายใต้ บจ. จีเอสเอ ดาต้า เซนเตอร์ (GSA DC) ในปี 2568 (งบลงทุนประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท) ส่วน TRUE เองได้ให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ แล้ว โดยบริษัทในเครือคือ บจ. ทรู อินเตอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์
แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่ามูลค่าตลาดดาต้า เซ็นเตอร์ และ Cloud ที่มีขนาดใหญ่มาก เนื่องจากคาดจะมีการใช้งานศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่รออยู่อีกมากจากความต้องการใช้ AI ที่นับวันจะเพิ่มขึ้น จึงคาดว่ายังมีช่องว่างให้ธุรกิจ ดาต้า เซ็นเตอร์ ของทั้ง ADVANC และ TRUE ได้เติบโต นอกจากนี้บริษัทข้ามชาติทุกรายที่มาลงทุนในไทยจะต้องมีการเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของไทย ซึ่งเชื่อว่าจะเลือกใช้โครงข่ายของ ADVANC และ/หรือของ TRUE ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้จากการให้บริการโครงข่ายเข้ามาเพิ่มขึ้น