ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดกังวลสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

dollar

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดกังวลสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (18/11) ที่ระดับ 34.74/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/11) ที่ระดับ 34.81/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 2.85% ในเดือน ต.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.98% ในเดือน ก.ย.

โดยดอลลาร์มีแนวโน้มทำสถิติพุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 1 เดือนในสัปดาห์ที่แล้ว จากการคาดการณ์ที่ว่า นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะกระตุ้นเงินเฟ้อและส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ขณะที่ถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ก็ได้ทำให้นักลงทุนลดน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน ธ.ค. สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้นขณะนี้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค. หลังมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

โดยขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 52% ต่อการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน ธ.ค. ซึ่งลดลงจากที่ให้น้ำหนัก 72% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน หลังจากที่คณะบริหารของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้การอนุมัติ ยูเครนก็ได้ยิงขีปนาวุธ ATACMS ที่ผลิตในสหรัฐจำนวน 6 ลูก ใส่รัสเซียเมื่อวันที่ 19 พ.ย.

และต่อมาก็ใช้ขีปนาวุธ Storm Shadow ของอังกฤษ และระบบเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องอัตราจรสูง (HIMARS) ของสหรัฐในวันที่ 21 พ.ย. สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ในวันนี้ (22/11) มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นและภาคบริการขั้นต้นเดือน พ.ย. จาก S&P Global และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน พ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

ADVERTISMENT

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุเมื่อวันจันทร์ (18/11) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2567 ขยายตัว 3.0% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.6% โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเติบโตได้ดี มาจากการลงทุนที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวเกือบ 26% ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส

นอกจากนี้การผลิตในภาคต่าง ๆ ยังเติบโตได้ รวมทั้งภาคการส่งออกที่เติบโตได้ดีมากในช่วงที่ผ่านมา พร้อมคาดว่า GDP ไตรมาส 4 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องเช่นกัน พร้อมประเมิน GDP ไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 2.6% จากเดิมที่คาดไว้ 2.5% นอกจากนี้ สภาพัฒน์คาดว่า GDP ไทยปี 2568 จะขยายตัวได้ราว 3.0% ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2567 โดยมองว่ารัฐบาลต้องเร่งผลักดันการส่งออกให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าและขับเคลื่อนการลงทุน

ADVERTISMENT

โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย และมองว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงต้องทำให้ตรงจุดมากขึ้น ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยที่ประกาศออกมาในวันอังคาร (19/11) มีผลต่อตลาดในวงจำกัด โดยคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจนัดแรก เคาะเดินหน้าแจกเงินหมื่นเฟส 2 ให้กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ราว 3-4 ล้านคน โดยเป็นการแจกเงินสดเหมือนเฟสแรก คาดใช้วงเงินราว 40,000 ล้านบาท ได้เงินไม่เกินตรุษจีนปี 2568

ส่วนเฟสถัดไปคาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือน เม.ย.-มิ.ย. เนื่องจากต้องรอทบทวนรายละเอียด และรอระบบพร้อม นอกจากนี้ ยังเห็นชอบหลักการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนใน 3 กลุ่ม ได้แก่ บ้าน รถยนต์ และหนี้เพื่อการบริโภค โดยให้มีการพักชำระดอกเบี้ย 3 ปี เพื่อบรรเทาภาระในช่วงแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.48-34.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/11) ที่ระดับ 34.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (18/11) ที่ระดับ 1.0527/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/11) ที่ระดับ 1.0565/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนายโยอาคิม นาเกิล ประธานธนาคารกลางเยอรมนี (Bundesbank) และผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า นโยบายการเก็บภาษีนำเข้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ อาจกระทบการค้าระหว่างประเทศ แต่ผลกระทบต่อเงินเฟ้ออาจมีเพียงเล็กน้อย

นอกจากนี้ยังเสริมว่า หากการแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์นำไปสู่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มากขึ้น ECB และธนาคารกลางอื่น ๆ จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ในวันพุธ (20/11) สำนักงานสถิติแห่งชาติ เยอรมนีเปิดเผยข้อมูลว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสินค้าอุตสาหกรรมในเยอรมนีลดลง 1.1% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่ลดลง 1.4% ในเดือน ก.ย. ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เมื่อเทียบเป็นรายเดือน

ทั้งนี้ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0431-1.0609 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/11) ที่ระดับ 1.0387/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (18/11) ที่ระดับ 154.68/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/11) ที่ระดับ 155.36/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยยังได้รับแรงหนุนหลังจากคาซูโอ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมร่วมกับกลุ่มผู้นำธุรกิจในเมืองนาโกย่าของญี่ปุ่น

โดยระบุว่า BOJ จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ 0.25% หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ BOJ โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อในระดับที่ยั่งยืน โดยได้แรงหนุนจากค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกนั้น กำลังปรากฏให้เห็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมทั้งระบุเพิ่มเติมว่า BOJ จะพิจารณาถึงความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยการประชุมนโยบายการเงินครั้งต่อไปของ BOJ จะมีขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค.

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ และอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมเดือน ม.ค. ปี 2568 ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันพุธ (20/11) ว่า ยอดส่งออกพุ่งขึ้น 3.1% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2% และฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่หดตัว 1.7% ในเดือน ก.ย. ส่วนยอดนำเข้าปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะลดลง 0.3% ส่งผลให้ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าอยู่ที่ 4.612 แสนล้านเยน (2.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือน ต.ค. เทียบกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะขาดดุล 3.604 แสนล้านเยน

นอกจากนี้ ในวันพฤหัสบดี (21/1) สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค (NHK) ของญี่ปุ่นรายงานว่านายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น เตรียมเปิดตัวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 21.9 ล้านล้านเยน หรือ 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งขนาดของมาตรการกระตุ้นดังกล่าวใหญ่กว่ามาตรการใช้จ่ายด้านการคลังมูลค่า 21.8 ล้านเยนเมื่อปีที่แล้ว และจะเพิ่มภาระหนี้ให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นครั้งใหญ่ที่สุด

ทั้งนี้ คาดว่าแผนการดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในวันศุกร์นี้ (22/11) หลังจากที่อิชิบะกลับจากการเดินสายเข้าร่วมประชุมสุดยอดในอเมริกาใต้ ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันศุกร์ (22/11) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งเป็นมาตรการวัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 2.3% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวลงจากเดือน ก.ย.ที่มีการขยายตัว 2.4% และในเดือน ส.ค.ที่ขยายตัว 2.8% เนื่องจากต้นทุนพลังงานปรับตัวลดลง

โดยตัวเลขเงินเฟ้อยังคงเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับเป้าหมายหรือสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ระดับ 2% ทั้งนี้ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 153.28-155.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/11) ที่ระดับ 154.53/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ