บาทอ่อนค่า หลังราคาทองร่วง

xr:d:DAFe9UIPwIQ:299,j:1900919727952175775,t:23082403

บาทอ่อนค่า หลังราคาทองร่วงแรงกว่า 1.7% เหตุนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 34.74/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (25/11) ที่ระดับ 34.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยถูกกดดันจากราคาทองคำที่ปรับตัวลงแรงกว่า 1.7% เนื่องจากนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หลังจากอิสราเอลและเลบานอลใกล้บรรลุข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับเงื่อนไขในการหยุดยิง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงต่อเนื่องถึง 3% ในคืนที่ผ่านมา กดดันให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า

วานนี้ (25/11) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐเสนอชื่อนายสก็อตต์ เบสเซนต์ ผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ กรุ๊ป (Key Square Gruop) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปีร่วงลงแตะระดับ 4.279%

โดยนายเบสเซนต์สนับสนุนการจัดเก็บภาษีนำเข้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป และผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจของสหรัฐ รวมถึงมีเป้าหมายควบคุมเงินเฟ้อ ผลักดันการฟื้นตัวของภาคการผลิตและความเป็นอิสระในอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐ ขัดกับนายทรัมป์ที่ได้เคยเสนอการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนถึง 60% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้มาตรการภาษีที่ผ่อนคลาย และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนที่ผ่อนคลาย และอาจส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยคืนวานนี้ (25/11) ว่าดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน ต.ค. (CFNAI) ปรับตัวลงสู่ระดับ -0.20 จากระดับ -0.27 ในเดือน ก.ย. โดยดัชนีที่ยังคงมีค่าเป็นลบบ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษบกิจที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

ADVERTISMENT

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันพุธ (27/11) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภคและครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ด้านปัจจัยภายในประเทศ วันนี้ (26/11) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ต.ค. โดยมูลค่าส่งออกขยายตัว 14.6% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 6.3% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 เดือน

ADVERTISMENT

ปัจจัยหลัก,kจากการเติบโตของการค้าโลกในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยหนุนการส่งออกไทย ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิต การขยายตัวของการบริโภคของประเทศคู่ค้าหลัก และการส่งซื้อสินค้าวัตถุดิบเข้าสู่คลังสินค้าของภาคอุตสาหกรรมและการสั่งซื้อสินค้าทุนเพื่อรองรับการผลิต ขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัว 15.9% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยยังคงขาดดุลการค้าอยู่ 794.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดว่ามูลค่าส่งออกไทยปีนี้อาจเติบโตได้ถึง 4% เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในวันนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 34.65-34.78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนค่าเงินยูโรเคลื่อไหวปิดตลาดเช้านี้ (26/11) ที่ระดับ 1.0444/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (25/11) ที่ระดับ 1.0478/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร วานนี้ (25/11) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี Ifo เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวลงสู่ระดับ 84.7 ในเดือน พ.ย. จากระดับ 86.5 ในเดือน ต.ค. ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 86.0

โดยดัชนีได้รับผลกระทบจากความกังวลว่าเศรษฐกิจเยอรมนีอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการดำเนินนโยบายการค้าของนายทรัมป์ อีกทั้งนายมาร์ตินส์ คาซักส์ สมาชิกสภากรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB Governing Council) แสดงความเห็นระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของลัตเวียว่า ECB ควรลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ธ.ค.นี้ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจของยุโรป ณ ขณะนี้

นอกจากนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือน ธ.ค. และอาจลดลงมากถึง 0.50% หลังจากเปิดเผยข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่แสดงให้เห็นถึงการหดตัวเกินคาดของเศรษฐกิจภาคเอกชนของยุโรปในวันศุกร์ (22/11) โดยในวันนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0424-1.0510 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0505-1.0506 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (26/11) ที่ระดับ 154.38/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (25/11) ที่ระดับ 154.73/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (26/11) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยดัชนี CPI พื้นฐานธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ Core CPI) เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 1.5% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.8% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 1.7% ในเดือน ก.ย.

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขดัชนี CPI โตเกี่ยว (Tokyo CPI) ในวันศุกร์นี้ (29/11) เพื่อหาสัญญาณเพิ่มเติมเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ธ.ค. ของ BOJ ในวันนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 153.52-154.41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 153.89/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ของสหรัฐ ได้แก่ ราคาบ้านเดือน ก.ย.จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์ (26/11), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. จากคอนเฟอเรนซ์บอร์ด (26/11), ยอดขายบ้านใหม่เดือน ต.ค. (26/11), ดัชนีการผลิตเดือน พ.ย. จากเฟดสาขาริชมอนด์ (26/11), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (27/11), ดัชนี PCE เดือน ต.ค. (27/11), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ต.ค. (27/11), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2567 (ประมาณการครั้งที่ 2) (27/11), และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือน ต.ค. (27/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.7/-7.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.3/-5.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ