“อัสสเดช” ผุดโปรเจ็กต์ Jump+ สร้างมูลค่าเพิ่ม บจ. เรียกเสน่ห์ตลาดหุ้นไทย

อัสสเดช คงสิริ
อัสสเดช คงสิริ

“อัสสเดช” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย ผุดโปรเจ็กต์ Jump+ ที่เป็น Flagship Project ในปี 2568 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม บจ. หวังสร้างเสน่ห์ด้านซัพพลายให้ตลาดหุ้นไทยมากขึ้น พร้อมหนุนฝั่งนักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ชี้กรอบแนวคิดเสร็จภายในสิ้นปีนี้ กางแผนดึง บจ. เป้าหมายเฟสแรกเข้าโครงการ คาดหวัง บจ.นำร่องน่าจะเพิ่มศักยภาพ-มูลค่าบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต พร้อมหนุนทำดีล M&A ทั้งควบรวมและซื้อขายกิจการ สู่การแข่งขันข้ามชายแดน

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หนึ่งในแผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ที่เป็น Flagship Project ในปี 2568 คือการเพิ่มความน่าสนใจด้านบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยเฉพาะ บจ.รายเล็ก ที่อาจจะไม่มีนักวิเคราะห์เข้าไปวิเคราะห์ข้อมูล จากวันนี้มี บจ. mai ที่ข้ามไปสู่ SET กว่า 56-57 บริษัท ซึ่งอยากจะสนับสนุนให้มากขึ้น

โดยตลาดหลักทรัพย์จะริเริ่มโครงการ Jump+ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ บจ. โดยเป็นโครงการที่ตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งเริ่มบังคับใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง ญี่ปุ่น หรือมาเลเซีย ในส่วนตลาดหลักทรัพย์ก็ได้มีการปรับให้เข้ากับบริบทประเทศไทยมากขึ้น โดยมีเป้าหมายผลักดันมูลค่า บจ.ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งในอดีตเวลาพูดถึงการสร้างความน่าสนใจของ บจ. จะนึกถึงการหาบริษัทใหม่เข้ามาไอพีโอเป็นกลุ่ม New Economy เป็นกลุ่ม Family Business แต่ในขณะที่ บจ.เดิม 900 บริษัท ยังมีรูมที่สามารถจะใช้เทคโนโลยีหรือการวิเคราะห์มาช่วยเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นมาได้

โดยกลไกหลักของโครงการ Jump+ ทุก บจ. สามารถเข้าร่วมได้โดยสมัครใจ ไม่ได้เป็นภาคบังคับที่ทุก บจ. ต้องเข้าร่วม โดยตลาดหลักทรัพย์ได้ทำการวิเคราะห์ บจ.ที่เป็นตัวอย่างกลุ่มเป้าหมายคือ 1. บจ.ที่อาจจะมี Area ที่สามารถปรับปรุงได้ด้านการซื้อขาย (Market) บทวิเคราะห์ยังน้อย ฟรีโฟลตต่ำ รวมถึงมูลค่าการซื้อขายด้วย โดยสถิติพบว่ากว่า 50% ของ บจ. 900 บริษัท มีอัตราส่วนราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี (Price to Book Value) ซึ่งถือว่ายังไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง โดย บจ. เหล่านี้มีฐานะการเงินดีแต่ไม่ขยายธุรกิจ (Lazy balance sheets)

2. บจ. ที่อาจจะมีประเด็นด้านผลการดำเนินงาน (Performance) ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตฝั่งรายได้ กำไรจากการดำเนินงาน หรือผลตอบแทนจากเงินลงทุน (ROIC) และ 3. บจ. ที่อาจจะมีประเด็นด้านผู้ถือหุ้น (Shareholder) ซึ่งการให้อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ยังไม่ได้สะท้อนกับ Performance ของบริษัท เพราะฉะนั้น บจ.ที่เข้าข่ายเหล่านี้คือกลุ่มเป้าหมายแรกที่ถ้าเข้ามาร่วมโครงการ Jump+ คาดหวังว่า บจ.น่าจะเพิ่มศักยภาพและมูลค่าบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นได้

“กระบวนการเข้าร่วมโครงการมี 3 ขั้นตอนคือ บจ.วิเคราะห์ผลการดำเนินงาน โดยตลาดหลักทรัพย์จะพัฒนาไอทีแพลตฟอร์มเอไอเข้ามาช่วยวิเคราะห์ และถัดมาจัดทำแผน Jump+ และกำหนดเป้าหมายการเติบโต คีย์สำคัญต้องมี Commitment จากบริษัทโดยผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดบริษัทด้วย และสุดท้ายเริ่มสื่อสารความคืบหน้าของแผนให้กับนักลงทุนซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

โดยตลาดหลักทรัพย์และพันธมิตรจะมีค่าตอบแทนตามแรงจูงใจ เช่น รีวอร์ด, ค่าธรรมเนียม, การไปโรดโชว์พบนักลงทุนสถาบันหรือเข้าร่วมงาน Thailand Focus เพื่อพบนักลงทุนต่างประเทศ, จัดสรรสลอตพิเศษการให้ข้อมูลนักลงทุนรายย่อยผ่าน Opportunity Day ในช่วงไพร์มไทม์ เป็นต้น”

นายอัสสเดชกล่าวต่อว่า โครงการ Jump+ ยังรวมไปถึงการทำดีล M&A ทั้งควบรวมและซื้อขายกิจการ ที่เป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งด้วยในการสร้างศักยภาพและการเจริญเติบโตที่ก้าวกระโดด โดยหลายธุรกิจเรื่องสเกลสำคัญ เพราะวันนี้การแข่งขันไม่ใช่ในประเทศอย่างเดียวแต่ไปสู่การแข่งขันข้ามชายแดน ดังนั้นการ Synergy ด้านผลิตภัณฑ์ แบรนด์ และฐานะการเงิน ก็อยากสนับสนุนผ่านโครงการนี้ด้วย

ADVERTISMENT

“บางสิ่งบางอย่างเราต้องกลับมา Back to Basic การสร้างความสนใจในตลาดหุ้นไทย ผลิตภัณฑ์เราต้องน่าสนใจ ต้องมีมูลค่า เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนสนใจมากขึ้นก่อน เพราะถ้าดูการแข่งขันในเชิงตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก จะเป็นการแข่งขันดึงดูดนักลงทุน ดังนั้นถ้าเกิดเราไม่มีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ หรือให้ผลตอบแทนที่น่าลงทุนเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ เขาก็จะไม่มาลงทุน” นายอัสสเดชกล่าว

ส่วนแผนระยะยาวคือจะผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจที่มีศักยภาพ (Listing Hub) เพื่อเชื่อมโยงการขับเคลื่อนประเทศจากทั้งในและต่างประเทศ คล้าย ๆ กับแผน Financial Hub โดยภาพดังกล่าวจะวางพื้นฐานไว้ก่อน แต่ภาพชัดเจนน่าจะเกิดขึ้นหลังปี 2570 ไปแล้ว โดยตลาดหลักทรัพย์จะต้องหาจุดแข็งของประเทศเพื่อดึงนักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนจากต่างประเทศ ให้หันมาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

“Flagship เรื่อง Jump+ ไทม์ไลน์จะเริ่มในปีหน้าแน่นอน แต่ช่วงเวลาที่ชัดเจนยังไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้ เนื่องจากโครงการ Jump+ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนออกแบบกันอยู่ คาดว่ากรอบแนวคิดน่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพราะถ้าไม่ชัดเจนอาจสร้างปัญหามากกว่าได้ประโยชน์ แต่เชื่อว่าเป้าหมายโครงการ Jump+ หากทำสำเร็จ เชื่อว่าจะสะท้อนมายังมูลค่าการซื้อขายและความคึกคักกลับมาในตลาดหุ้นไทยได้แน่นอน เพราะเป็นการสร้างเสน่ห์ด้านซัพพลายให้ตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ซึ่งเมื่อมีมากขึ้นทางฝั่งนักลงทุนก็จะเข้ามามากขึ้นแน่นอน” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทยกล่าว