ดอลลาร์สหรัฐแกว่งตัวกรอบแคบ ในวันขอบคุณพระเจ้า ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (28/11) ที่ระดับ 34.54/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/11) ที่ระดับ 34.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยดอลลาร์อ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลังเช้านี้ (28/11) Dollar Index ปรับตัวลดลงที่ระดับ 106.03 ก่อนวันหยุดเนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า สอดคล้องกับการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังจากนักลงทุนซึมซับข้อมูลเศรษฐกิจและประเมินผลกระทบจากมาตรการภาษีการค้าของคุณโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะส่งผลต่อการค้าโลกมากน้อยเพียงใด
ในส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ เมื่อคืนนี้สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) ได้เปิดเผยยอดขายบ้านมือสองเพิ่มขึ้น 3.4% สู่ระดับ 3.96 ล้านยูนิตในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.95 ล้านยูนิต และ ISM-Chicago, Inc ได้มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโก ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 40.2 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 44.9 และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.6
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่าดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับการคาดการณ์ แต่ปรับตัวขึ้นมากกว่าในเดือน ก.ย.ที่เพิ่มขึ้น 2.1% ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบรายปี
สำหรับตัวเลขยอดสินค้าคงทนประจำเดือน ต.ค.ออกมาที่ 0.2% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 0.4% อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังรอจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยต่อไป
สำหรับปัจจัยในประเทศวันนี้ (28/11) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค. 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูง ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการบริโภคภาคเอกชนที่ได้อานิสงส์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ
อย่างไรก็ดี การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.38-34.58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.46/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/11) ที่ระดับ 1.0555/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/11) ที่ 1.0516/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำนักงานสถิติแห่งชาติของสเปน (INE) รายงานในวันนี้ (28/11) ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เบื้องต้นของสเปนในเดือน พ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบรายปี มากกว่าคาดการณ์ที่ 2.3% และมากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 1.8%
ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0526-1.0569 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0536/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้ (28/11) ที่ระดับ 151.54/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/11) ที่ 151.44/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (28/11) สำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาออกพันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่มูลค่า 6.7 ล้านล้านเยน หรือราว 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้เป็นงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคุณชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
โดยคณะรัฐมนตรีของคุณอิชิบะคาดว่าจะอนุมัติแผนงบประมาณเพิ่มเติมมูลค่า 13.9 ล้านล้านเยนในวันพรุ่งนี้ (29/11) โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ท่ามกลางภาวะราคาสิค้าที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 150.91-151.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.93/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของกรุงโตเกียวเดือน พ.ย. ของญี่ปุ่น (29/11), ประมาณการการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย.ของญี่ปุ่น (29/11), ยอดค้าปลีกเดือน ต.ค. ของญี่ปุ่น (29/11), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.ของญี่ปุ่น (29/11), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.ของไทย (29/11), ปริมาณการส่งออกและนำเข้าเดือน ต.ค. ของไทย (29/11), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เบื้องต้นของยูโรโซน (29/11), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน พ.ย.จากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) (30/11)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.0/-8.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.0/-6.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ