แบงก์ชาติชี้ ‘ท่องเที่ยว-มาตรการโอนเงินหมื่น’ หนุนเศรษฐกิจ ต.ค.ฟื้นตัว

ชญาวดี ชัยอนันต์
ชญาวดี ชัยอนันต์

แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจเดือน ต.ค.ฟื้นตัว จากเดือนก่อน รายรับภาคการท่องเที่ยว-การบริโภคภาคเอกชนดีขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการเงินโอน 10,000 บาท มองแนวโน้มถัดไปเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ แนะจับตาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์-นโยบายการค้าของสหรัฐ-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์และโฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2567 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการเงินโอน 10,000 บาท สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการค้าที่เพิ่มขึ้น

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นตามการส่งออก ที่ไม่รวมรถยนต์และอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในบางภาคส่วนยังชะลอตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยลง

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ เดือนตุลาคม 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 2.8% จากเดือนก่อน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.5 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีนชะลอลงส่วนหนึ่งจากปัจจัยในประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวหลายสัญชาติ

อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และนักท่องเที่ยวระยะยาว (Long-Haul) โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนียังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้รายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวพำนักในไทยสะสม ที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มยุโรป รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อวันที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ด้านการบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อนในทุกหมวด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เงินโอน 10,000 บาท) โดยการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นใน 1) หมวดสินค้าไม่คงทน จากปริมาณการใช้น้ำมันและยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว และยาสูบ

ADVERTISMENT

2) หมวดสินค้าคงทน ตามยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 3) หมวดสินค้ากึ่งคงทน จากปริมาณการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะเสื้อผ้า

และ 4) หมวดบริการ จากหมวดโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่ลดลง

ADVERTISMENT

การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น 4.5% จากเดือนก่อน ดีขึ้นในทุกหมวดหลัก โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นตาม 1) การนำเข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะหมวดเครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ในงานทั่วไป มอเตอร์ไฟฟ้า และเรือ 2) ยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ จากเครื่องจักรและเครื่องมือทั่วไป และ 3) ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นตามรถแทรกเตอร์ สำหรับการลงทุนด้านการก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง

ได้แก่ อิฐบล็อก ซีเมนต์ และพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต รวมถึงพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างปรับดีขึ้นจากพื้นที่ เพื่อที่อยู่อาศัย และเพื่ออุตสาหกรรมและโรงงาน การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าจัดการเรียนการสอนของหน่วยงานด้านการศึกษา และการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ

ด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงจากการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของหน่วยงานด้านคมนาคมและด้านการศึกษา สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากการเบิกจ่ายในโครงการด้านการสื่อสารและสาธารณูปโภค

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.83% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 0.61% ตามหมวดพลังงาน จากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่หมวดอาหารสดลดลงจากราคาผักตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว โดยราคาอาหารปรับสูงขึ้น แต่ราคาของใช้ส่วนตัวปรับลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.7 พันล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุล 1.4 พันล้านดอลลาร์ เกินดุลลดลงจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลลดลง จากการส่งกลับกำไรที่ลดลงหลังเร่งไปในเดือนก่อนหน้า ตลาดแรงงานปรับแย่ลงจากการจ้างงานในภาคบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

อาทิ ภาคการค้ายานยนต์ และก่อสร้าง สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และการค้า ขณะที่การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจขนส่ง รวมถึงการระดมทุนผ่านสินเชื่อภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และร้านอาหาร

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในเดือน ต.ค. 67 เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามความไม่แน่นอนของขนาดการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งในสหรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้น

ส่วนค่าเงินบาทในเดือน พ.ย. ซึ่งข้อมูลจนถึงวันที่ 25 พ.ย. 67 พบว่าค่าเงินบาทยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังจากมีผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้การนำของ “โดนัลด์ ทรัมป์” อาจส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง และเฟดอาจจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยได้เท่ากับที่เคยประเมินไว้

ส่วนแนวโน้มระยะต่อไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง ทั้งนี้ ในระยะต่อไปต้องติดตาม 1) ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายการค้าของสหรัฐที่จะส่งผลต่อการส่งออกและการผลิต และ 2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ