คลังเผย “แฮร์คัตหนี้บุคคล” เกือบ 1 ล้านราย ชง ครม. 11 ธ.ค. เปิดทางลูกหนี้กลับมาจ่าย 5-10% ได้เคลียร์สถานะหนี้จากรหัส 21 เป็นรหัส 11 “ปิดบัญชี” เริ่มต้นชีวิตใหม่-ขอสินเชื่อใหม่ได้ ขณะที่แบงก์เฮ ! โบรกฯมองรับผลกระทบเชิงบวก “บล.หยวนต้า” ชี้แบงก์ได้ประโยชน์เคลียร์หนี้ค้างพอร์ต-รายได้จากตั้งสำรองกลับมาเป็นกำไร มอง “SCB-KBANK” เด่น เหตุมีตั้งสำรองพอร์ตหนี้รายย่อยไว้สูงช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้าน “บล.พาย” ระบุผลกระทบจาก “พักดอกเบี้ย 3 ปี” ขึ้นกับพอร์ตแต่ละแบงก์ ยังไม่ชัดน็อนแบงก์ต้องเข้ามาตรการหรือไม่
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แพ็กเกจมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณวันที่ 11 ธ.ค.นี้ โดยในส่วนที่เป็นการแฮร์คัตหนี้ให้กับบุคคลรายย่อย เกือบ ๆ 1 ล้านราย ที่เป็นหนี้เสียมาเกินกว่า 1 ปี ขณะนี้เหลือการหารือข้อสรุปว่าจะกำหนดวงเงินหนี้ที่ 5,000 บาท หรือ 10,000 บาท ซึ่งจะใช้โมเดลคล้าย ๆ กับของธนาคารออมสินที่ทำไปก่อนหน้านี้ แต่กรณีนี้จะให้ลูกหนี้ติดต่อแบงก์ เพื่อเข้ามาชำระประมาณ 5-10% แล้วแบงก์จะยกหนี้ที่เหลือให้
“มาตรการนี้จะช่วยลูกหนี้ที่เป็นคนตัวเล็ก ซึ่งเดิมเขาถูกบันทึกในเครดิตบูโร รหัส 21 (เป็นหนี้เสียช่วงโควิด) แต่ที่ผ่านมาจ่ายไม่ได้ เป็นหนี้ค้างนาน เมื่อยอมกลับมาจ่าย 5 หรือ 10% รัฐบาลจะล้างหนี้ให้ทั้งหมด ก็จะปิดบัญชี สถานะลูกหนี้ก็จะเป็นรหัส 11 หรือชำระหนี้หมด ซึ่งกลุ่มนี้ก็สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ เหมือนเริ่มต้นชีวิตใหม่”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนอีกมาตรการเป็นการปรับโครงสร้างหนี้สินเชื่อบ้านและรถ ที่รัฐบาลและธนาคารพาณิชย์จะช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนลูกหนี้ในช่วง 3 ปีแรก พร้อมกับลดการจ่ายค่างวดให้ภาระเบาลง ครอบคลุมลูกหนี้ราว 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้ 1.31 ล้านล้านบาท
นายตฤณ สิทธิสวัสดิ์ นักวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการแก้หนี้ออกมา ต้องบอกว่าการแก้หนี้ของภาครัฐในครั้งนี้ทำออกมาได้ค่อนข้างดี มีประสิทธิภาพ จากการร่วมมือ ทั้งสมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ซึ่งล่าสุดจะมีมาตรการแฮร์คัตที่จะเน้นไปที่ลูกหนี้ในกลุ่มเป็นหนี้เสีย (NPL) มานาน และเป็นหนี้ก้อนเล็กที่ไม่มีหลักประกัน โดยการออกแบบมาตรการคล้ายกับที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เข้าไปติดต่อลูกค้า แล้วจะมีการทำข้อตกลงในการชำระหนี้ต่าง ๆ แต่หากธนาคารมาทำเองโดยตรงจะส่งผลดีกับธนาคารกว่า เพราะไม่ต้องขายหนี้เสียออก และใช้วิธีในการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารเอง
“กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียมาค่อนข้างนาน มีการตั้งสำรองไปเต็มจำนวนแล้ว หากลูกหนี้มาจ่าย 5-10% จะเป็นประโยชน์กับธนาคาร เพราะจะมีรายได้หนี้สูญรับคืนกลับเข้ามา จะทำให้พอร์ตของธนาคารดีขึ้น และการตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชี TFRS 9 จะน้อยลง ดังนั้น จะเห็นว่ามาตรการแก้หนี้รอบนี้ ผลกระทบเชิงลบกับธนาคารมีน้อย และถ้าลูกหนี้กลับมาจ่ายหนี้ได้จะเป็นบวกด้วย จากการตั้งสำรองที่จะลดลง หนี้สูญรับคืนเพิ่มขึ้น ส่วนรายได้ดอกเบี้ยจะเห็นลดลงบ้าง แต่สุดท้ายจะเป็นเชิงลบแค่บางส่วน โดยรวมกำไรสุทธิของแบงก์จะดีขึ้น”
ทั้งนี้ ประเมินว่าหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว ได้แก่ บมจ.เอสซีบีเอกซ์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แบงก์เหล่านี้มีปัญหาพอร์ตรายย่อย และการตั้งสำรองค่อนข้างสูง ประเมินว่าในระยะกลาง-ยาวจะเริ่มเห็นการชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ดีขึ้น โดยแนะนำซื้อ SCB ราคาเป้าหมาย 130 บาท, KBANK แนะนำซื้อ 175 บาท รวมถึงแนะนำซื้อธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ราคา 25 บาท
ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) ต้องรอดูความชัดเจนว่าจะร่วมด้วยหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังเห็นว่ามีการมุ่งไปที่ธนาคารเป็นหลัก แต่ประเมินว่า ธปท.น่าจะทำให้ครอบคลุมทั้งระบบ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจภายใต้ใบอนุญาต ธปท.น่าจะต้องเข้าเกณฑ์ช่วยเหลือทั้งหมด
นายตฤณกล่าวอีกว่า ในส่วนมาตรการช่วยเหลือพักดอกเบี้ย 3 ปี มีกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างชัดเจน เน้นกลุ่มที่เพิ่งจะค้างชำระไม่เกิน 1 ปี ซึ่งหากไม่มีมาตรการช่วยสุดท้ายต้องตกเป็นหนี้เสีย ดังนั้น การมีมาตรการให้เป็นทางเลือกสำหรับลูกหนี้ อาจทำให้มีความสามารถในการมาจ่ายหนี้มากขึ้น ซึ่งประเมินว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่องบการเงินของกลุ่มธนาคารมาก
เนื่องจากหนี้กลุ่มดังกล่าว หากถูกจัดเป็น Stage 2 หรือ Stage 3 ธนาคารจะมีการตั้งสำรองไว้แล้ว แต่อาจจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารลดลงได้ เนื่องจากมาตรการพักหนี้ 3 ปี ธนาคารจะต้องรับภาระด้วยครึ่งหนึ่ง ในส่วนของดอกเบี้ยที่ลดให้กับลูกค้า และอีกครึ่งสามารถนำไปขอสิทธิลดค่านำส่งในกองทุน FIDF ได้
“NIM อาจจะลดลง แต่ถ้าลูกหนี้เข้าโครงการเยอะ และมีการชำระหนี้กลับขึ้นมา โอกาสที่หนี้สูญจะได้รับคืนจะเพิ่มขึ้น มีโอกาสที่การตั้งสำรองของแบงก์จะลดลงได้ในอนาคต”
ด้านนายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแฮร์คัตเงินกู้ส่วนบุคคล-บัตรเครดิต ที่เป็นหนี้ไม่เกิน 5,000-10,000 บาท สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL เกิน 1 ปี ประเมินว่ากลุ่มธนาคารมีผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากลูกหนี้แบงก์ส่วนใหญ่น่าจะมีปริมาณหนี้ NPL ที่มากกว่า 10,000 บาท ซึ่งอาจจะไม่เข้าเกณฑ์
ทั้งนี้ หากเปิดให้น็อนแบงก์เข้าร่วมด้วย บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) จะถูกกระทบมากสุด เพราะฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มฐานรากที่ใช้แรงงาน ขณะที่ลูกค้าของ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เป็นกลุ่มคนที่ทำงานในออฟฟิศอาจจะกระทบน้อยกว่า
ขณะที่มาตรการแก้หนี้สินเชื่อบ้านและรถพักดอกเบี้ย 3 ปีนั้น ประเมินค่อนข้างยาก เนื่องจากเงื่อนไขสำคัญต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เกิดขึ้น มาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีกับลูกหนี้ ส่วนธนาคารต้องดูว่าใครมีพอร์ตสินเชื่อบ้านใหญ่ที่สุด ซึ่งได้แก่ SCB รองมาเป็น KBANK, KTB
ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ ได้แก่ ธนาคารทิสโก้ (TISCO), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP), SCB, KBANK, ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) มีสินเชื่อต่อสัดส่วนมากที่สุด อาจเข้าข่ายว่าต้องมาช่วยเหลือลูกหนี้ ส่วนที่มีลูกค้ากลุ่มนี้น้อยที่สุด ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ดังนั้น จะได้รับผลกระทบจำกัด
“อย่างไรก็ดี ยังตอบไม่ได้ว่าการที่มีพอร์ตสินเชื่อเยอะแล้วจะกระทบเยอะ เนื่องจากต้องรอติดตามว่าลูกค้าของแต่ละธนาคารเข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขที่กำหนดด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุน แนะนำซื้อ BBL ราคาเป้าหมาย 168 บาท, KTB ราคาเป้าหมาย 22.80 บาท ส่วน KBANK, SCB, TTB, KTC แนะนำถือได้”