SCB ดีเดย์ปรับโครงสร้าง มุ่งดิจิทัลเต็มตัว-รับมือ Virtual Bank

Krit
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“850 วัน ที่ผมได้เข้ามาทำงานที่ไทยพาณิชย์ หรือกว่า 3 ปี พันธกิจของธนาคารยังคงเดิม คือ มุ่งสู่กลยุทธ์ Digital Bank With Human Touch และยังคงเป็นกลยุทธ์ต่อเนื่องไปอีก 5-10 ปีหลังจากนี้ เพื่อไปสู่ดิจิทัลแบงก์เต็มรูปแบบ” คำกล่าวของ “กฤษณ์ จันทโนทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนล่าสุด ในงาน “SCB Press Trip @ samui”

ปี’67 เข้มปล่อยสินเชื่อลดเสี่ยง

โดย “กฤษณ์” กล่าวว่า การดำเนินงานตามกลยุทธ์ Digital Bank With Human Touch สร้างผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง และสามารถพิชิตทุกเป้าหมายที่วางได้ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2567 ไทยพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 3.85 หมื่นล้านบาท เติบโต 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YOY) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 3.1% YOY รายได้จากธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งเติบโต 19% YOY

อย่างไรก็ดี ภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในลักษณะ K Shape หรือฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง ธนาคารต้องปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยสินเชื่อรวมในปี 2567 ของไทยพาณิชย์น่าจะทรงตัว และเน้นในกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนที่มีรายได้เกิน 5 หมื่นบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มยังมีโอกาสเติบโต ทั้งสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งเพื่อการลงทุน (Wealth)

ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องเลือกโตมากขึ้น รวมถึงหันมาโฟกัสธุรกิจที่สร้างรายได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการปล่อยสินเชื่อ อย่างเช่น ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) เป็นต้น ส่วนสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ อาจจะเติบโตกระจุกตัวมากขึ้น เนื่องจากภาวะการแข่งขัน

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเหมือนเมาค้างโควิดอยู่ การฟื้นตัวแบบ K-Shape มีลูกค้าที่ยังไม่สร่างเมา จะเดินหน้าต่อก็ไม่ได้ ดังนั้น ทุกแบงก์ที่มีพอร์ตลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องประคองให้เกิด Soft Landing ทั้งนี้ หากดอกเบี้ยลดอีกในปีหน้า จะยิ่งมีความท้าทาย เพราะทุกครั้งดอกเบี้ยลดลง 0.25% จะกระทบรายได้ดอกเบี้ย 5,000 ล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาท”

ปี’68 เผชิญ 3 ปัจจัยท้าทาย

“กฤษณ์” กล่าวอีกว่า มองไปข้างหน้าในปี 2568 ธุรกิจธนาคารยังคงมีความท้าทาย โดยจะมาจากความเสี่ยง 2-3 ด้านหลัก คือ 1.ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจมีความท้าทาย รวมถึงนโยบายกีดกันทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อไทย โดยคาดว่า GDP ไทยปี 2568 จะขยายตัวเพียง 2.4%

ADVERTISMENT

2.ระดับหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังสูง แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะปรับลดลงจากระดับ 90% ของ GDP มาอยู่ที่ 89% แต่เป็นการลดลงจากยอดสินเชื่อไม่ได้เติบโต และเศรษฐกิจที่ไม่ได้ขยายตัว หากรวมหนี้นอกระบบจะเกิน 100% ซึ่งมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนที่จะออกมาในวันที่ 11 ธ.ค. 2567 แม้จะช่วยประคองลูกหนี้ แต่ไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างด้านรายได้ที่ต้องแก้ไข

กฤษณ์ จันทโนทก
กฤษณ์ จันทโนทก

ตั้งรับการแข่งขัน Virtual Bank

และ 3.เทรนด์ AI (ปัญญาประดิษฐ์) และกฎกติกาด้าน ESG (Environment, Social และ Governance) ยังคงมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดขึ้นของธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศผู้ที่ได้ใบอนุญาต Virtual Bank อย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญในระบบการเงินของไทย

ADVERTISMENT

“ธุรกิจ Virtual Bank ปัจจุบันมีต้นทุนเพียง 30% เทียบกับต้นทุนของธนาคารที่สูงกว่า 36% ดังนั้น การแข่งขันผู้เล่นรายใหม่ได้จะต้องทำให้ต้นทุนของธนาคารต่ำลง แต่ก็เชื่อว่า Virtual Bank ไม่ง่าย เพราะว่าประมาณ 90% ยังคงขาดทุน มีอีก 10% ที่สำเร็จและมีกำไร โดยเป้าหมายของธนาคารที่สำคัญ คือ การตั้งเป้าเป็นดิจิทัลแบงก์เต็มตัว และตั้งเป้ามีรายได้จากดิจิทัล หรือ Digital Revenue ให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่า เรือลำใหญ่จะแข่งกับเรือลำเล็กได้ และเชื่อว่าการแข่งขันบนเวทีนี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น จากเศรษฐกิจไทยที่ไม่ง่าย”

ดีเดย์ 1 ม.ค. ปรับโครงสร้าง

ซีอีโอไทยพาณิชย์กล่าวอีกว่า เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ปักหมุดไว้ ในวันที่ 1 มกราคม 2568 ธนาคารจะประกาศการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในอนาคต ภายใต้ 3 มิติ คือ 1.การตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง โดยลดงานทับซ้อน จากเดิมจะแบ่งการทำงานเป็นหน่วยธุรกิจ (BU) มี 19 หน่วยงาน จะเหลือเพียง 10 หน่วยงาน

2.การวางโครงสร้างด้านดิจิทัล จะทำอย่างไรให้สาขาที่มี 700 แห่ง ทำธุรกรรมได้ 340 รายการ สามารถทำได้บน SCB Easy ที่ปัจจุบันทำได้ราว 100 รายการ และ 3.การเสริมศักยภาพในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ

โดยสิ่งที่เกิดขึ้น จะมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.การเลือกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน และบริการลูกค้าให้สอดคล้องกับมูลค่าทางเศรษฐกิจสำหรับลูกค้าแต่ละคน 2.เพิ่มความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่ลงทุนไว้ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพระบบ เพื่อให้เกิดผลิตภาพที่เพิ่มมากขึ้น เช่น Core Banking โครงสร้างพื้นฐานที่จะเริ่มออกดอกออกผลในทิศทางที่ดีขึ้น หรือการใช้ AI มากกว่าการปล่อยกู้หรือติดตามหนี้

“โครงสร้างนี้จะทำให้แบงก์ตอบโจทย์ลูกค้าได้เร็วขึ้น ทันท่วงที และไร้รอยต่อ ลดจุดทับซ้อนของหน่วยงาน ลดความเกรงใจ ในแง่ผู้ถือหุ้นจะได้รับ ROE (อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) เป็นตัวเลข 2 หลัก และช่วยทำให้ต้นทุนแบงก์ลดลงเหลือในระดับ 35% เร็วที่สุด” ซีอีโอไทยพาณิชย์กล่าว