IMF แนะไทย ลดดอกเบี้ยเพิ่ม หนุนเศรษฐกิจฟื้น-ลดภาระลูกหนี้

IMF ประเมิน GDP ไทยปี 67 โต 2.7% และปี 68 คาดโต 2.9% แนะไทยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ-เพิ่มความสามารถจ่ายหนี้ของลูกหนี้ ด้านการคลังแนะทำนโยบายเน้นการสร้าง Policy Space มากขึ้น

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 11-26 พ.ย. 67 คณะผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อประเมินภาพรวมภาวะเศรษฐกิจและหารือกับหน่วยงานของไทย เช่น กระทรวงการคลัง, ธปท., สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน และภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

โดย IMF ประเมินภาวะเศรษฐกิจ การเงิน มุมมองของนโยบายภาครัฐ ว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ถึงแม้ว่าในช่วงแรกการใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ แต่ยังไม่ได้มากนักจากการเบิกจ่ายที่ล่าช้า โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 67 จะเติบโตที่ 2.7% และในปี 68 คาดว่าจะเติบโตที่ 2.9% ซึ่งเป็นผลบวกมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่จะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีขึ้น ซึ่งการประเมินภาพรวมดังกล่าวได้สอดคล้องกันกับทั้งหน่วยงานเศรษฐกิจต่าง ๆ และ ธปท.ด้วย

ขณะที่ความเสี่ยง IMF ประเมินว่ายังต้องติดตามความไม่แน่นอนการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับทั่วโลก ทั้งภูมิภาค รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยจะผ่านทางการส่งออก และการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) ที่อาจจะปรับลดลง นอกจากนี้ยังมีความกังวลในความผันผวนของสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจเงินเฟ้อและภาวะการเงินในประเทศได้ รวมถึงภาระหนี้ของภาคเอกชนที่อาจจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สำหรับนโยบายการคลังนั้น IMF มองว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้แล้ว ในระยะต่อไปการทำนโยบายจะต้องเน้นการสร้าง Policy Space มากขึ้น ซึ่งนโยบายการคลังขยายตัวได้น้อยกว่าแผนที่คาดไว้ แต่ก็ยังสามารถทำหน้าที่ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และต้องรักษา Policy Space ไว้ หรือจัดสรรงบประมาณบางส่วนไปลงทุนในการเพิ่มผลิตภาพ และปฏิรูปการคุ้มครองทางสังคม ที่จะทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างทั่วถึงมากขึ้น และลดสัดส่วนหนี้สาธารณะลงด้วย

สำหรับนโยบายการเงินนั้น IMF เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา และเห็นว่ายังสามารถลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เนื่องจากปัจจุบันความเสี่ยงในการก่อหนี้ใหม่อาจจะมีไม่มาก เพราะสินเชื่อชะลอตัว

ADVERTISMENT

“โดยในตอนที่หารือ ก็มองตรงกันว่า เป็นเรื่องของการปรับให้อยู่ในภาวะ Neutral หรือภาวะปกติ ไม่ได้เป็น Easing Cycle ซึ่งอันนี้เห็นตรงกัน เพียงแต่ range ของการประเมินอาจจะมีบวก/ลบ ต่างกันบ้าง ซึ่ง IMF มองว่าถ้าปรับลดอีกครั้งหนึ่งก็น่าจะได้ และแนะนำให้ ธปท.เตรียมพร้อม และปรับนโยบายที่เป็น Data และ Outlook Dependent เพื่อรองรับความเสี่ยง และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของ กนง.”

นอกจากนี้ IMF ยังสนับสนุนการใช้หลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) และการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพในการชำระหนี้ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา Moral Hazard และเน้นในการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการทำกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาหนี้ได้ และที่สำคัญคือนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยเรื่องการเพิ่มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ADVERTISMENT