คลังสัญจร ลุยเชียงราย ฟื้นน้ำท่วม อัดสินเชื่อช่วยกว่า 9.4 หมื่นล้านบาท

พิชัย ชุณหวชิร

“คลังสัญจร” ลุย “เชียงราย” จัดมาตรการการเงิน 8 แบงก์รัฐ ช่วยเหลือประชาชนฟื้นฟูหลังประสบภัยน้ำท่วมกว่า 7.4 แสนราย มูลหนี้กว่า 9.4 หมื่นล้านบาท

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และการดำเนินธุรกิจของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ สถาบันการเงินของรัฐได้จัดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน อาทิ มาตรการพักต้น พักดอก การลดดอกเบี้ยตามเกณฑ์สำหรับกลุ่มที่ประสบอุทกภัยและกลุ่มที่ไม่ประสบอุทกภัย

ซึ่งเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในช่วงที่มีแนวโน้มที่ดีรวมทั้งการเติมเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ภาครัฐ ให้เหมือนเช่นเดียวกับสถาบันการเงินภาครัฐ และล่าสุด กรมบัญชีกลาง ได้ปรับวงเงินฉุกเฉินเพิ่มเติมเพื่อให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สามารถนำงบประมาณไปช่วยเหลือได้ทั้งการช่วยเหลือประชาชนและการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง ได้ร่วมกันออกมาตรการด้านการเงินเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวัน ประกอบอาชีพ และประกอบธุรกิจต่อไปได้ มีทั้งมาตรการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ย รวมไปถึงมาตรการสินเชื่อซอฟต์โลนซึ่งทำให้ดอกเบี้ยต่ำลง 3-4%

สำหรับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่งมีดังนี้

1. ธนาคารออมสิน
2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
4. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)

ADVERTISMENT

5. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)
7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
8. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังได้จัดสรรวงเงิน 50,000 ล้านบาท จากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสิน เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับมาฟื้นฟูกิจการ เพื่อประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจได้ต่อไปภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประสบอุทกภัยได้รับสินเชื่อตามโครงการดังกล่าวรวมถึงโครงการสินเชื่ออื่น ๆ จากสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ

ADVERTISMENT

รวมถึงสร้างความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน บสย. ได้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind วงเงินค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวสรุปว่าจากมาตรการที่กระทรวงการคลังร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วนในตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง เป็นจำนวนมากกว่า 740,000 ราย รวมยอดหนี้มากกว่า 94,000 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินมาตรการด้านการเงินในระยะต่อไปจะเป็นการเน้นการเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการฟื้นฟูและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชนสามารถกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการดูแลพี่น้องทุกกลุ่มอย่างเต็มที่

โดยจะผลักดันนโยบายรัฐบาลต่าง ๆ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพและกำหนดแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยกระทรวงการคลังจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงทีและเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป