ทองร่วง บาทอ่อน จับตาตัวเลขการจ้างงานสัปดาห์นี้

เงินบาท-ราคาทองคำ

ทองร่วง บาทอ่อน จับตาตัวเลขการจ้างงานสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในระยะถัดไป ชี้ภาพระยะสั้นค่าเงินบาทมีแนวโน้มเหวี่ยงตัวตามการเคลื่อนไหวระหว่างวันของราคาทองคำในตลาดโลก 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/12) ที่ระดับ 34.46/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/11) ที่ระดับ 34.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐเช้านี้ (2/12) ฟื้นตัวเทียบเงินสกุลหลัก หลัง Dolla Index ปรับตัวแถวระดับ 106.15 โดยได้แรงหนุนหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าสหรัฐจะเก็บภาษีนำเข้า 25% จากสินค้าทั้งหมดที่มาจากเม็กซิโก และแคนาดา ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และจะเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมอีก 10% จากสินค้าจีน พร้อมระบุว่ามาตรการนี้เป็นการตอบโต้การค้ายาและการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูลภาคบริการและการจ้างงานเดือน พ.ย. ของสหรัฐ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในระยะถัดไป ขณะที่ผู้ร่วมตลาดมองว่า คำขู่เกี่ยวกับการขึ้นอัตราศุลกากรของทรัมป์ เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองสำหรับประเด็นทางสังคมหรือด้านอื่น ๆ โดยภาพระยะสั้นค่าเงินบาทมีแนวโน้มเหวี่ยงตัวตามการเคลื่อนไหวระหว่างวันของราคาทองคำในตลาดโลก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐต่อไป

ด้านปัจจัยภายในประเทศ วันนี้ (2/12) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน พ.ย. 67 อยู่ที่ระดับ 49.3 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 47.0 ในเดือน ต.ค. 67 จากการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ สำหรับความเชื่อมั่นในภาคการผลิตปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดธุรกิจ

นำโดยกลุ่มผลิตพลาสติก และยางพารา ที่ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและการผลิตปรับเพิ่มขึ้นมาก ตามอุปสงค์บรรจุภัณฑ์อาหารที่ขยายตัวดี และการสะสมสต๊อกยางแท่ง และยางแผ่นของคู่ค้าในจีน ส่วนหนึ่งจากแนวโน้มราคายางพาราที่ลดลง เช่นเดียวกับกลุ่มผลิตอาหาร ที่ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ และการผลิตปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการส่งออกทูน่ากระป๋อง และผลิตภัณฑ์ไก่ที่เติบโตตามอุปสงค์คู่ค้า

ADVERTISMENT

ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิต ปรับเพิ่มขึ้นมากเฉพาะกลุ่มโรงแรม และร้านอาหาร ที่ความเชื่อมั่นดีขึ้นในทุกด้าน จากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวตามกลุ่มตลาดระยะไกล (Long haul) โดยเฉพาะตลาดภูมิภาคยุโรป และสหรัฐ โดยในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.3 จากความเชื่อมั่นในภาคการผลิตทางตัว ความเชื่อมั่นในเกือบทุกหมวดธุรกิจดีขึ้น ยกเว้นในกลุ่มผลิตยานยนต์ ที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงต่อเนื่องในเกือบทุกองค์ประกอบ จากยอดขายในประเทศและการส่งออกที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว

ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิต ปรับลดลงในเกือบทุกหมวดธุรกิจ นำโดยกลุ่มค้าปลีก ส่วนหนึ่งจากปัจจัยเชิงฤดูกาลที่คำสั่งซื้อมีแนวโน้มลดลง หลังจากที่เร่งไปมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับกำลังซื้อของครัวเรือนฐานรากที่ฟื้นตัวช้า กดดันยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคให้ชะลอลง เช่นเดียวกับกลุ่มขนส่งที่ความเชื่อมั่นปรับลดลง นำโดยด้านคำสั่่งซื้อและปริมาณการให้บริการ จากทั้งกลุ่มขนส่งสินค้าและขนส่งผู้โดยสาร

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.30-34.53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/12) ที่ระดับ 1.0536/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/11) ที่ระดับ 1.0426/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในวันศุกร์ (29/11) ที่ผ่านมาสำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศส (INSEE) ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ในเดือน พ.ย. โดยราคาอาหารปรับตัวลง

ขณะที่ราคาบริการพุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เมื่อเทียบรายปี อัตราเงินเฟ้อฝรั่งเศส (ประมาณการขั้นต้น) ที่ปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพยุโรป (HICP) อยู่ที่ 1.7% ในเดือน พ.ย. ขยับขึ้นจาก 1.6% ในเดือน ต.ค. ซึ่งตรงกับที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ในโพลของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ ราคาบริการในเดือน พ.ย.ปรับตัวสูงขึ้น 2.5% จากปีที่แล้ว เพิ่มจาก 2.3% ในเดือน ต.ค. ส่วนราคาพลังงานปรับตัวลง 0.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งลดลงเร็วกว่าเดือนก่อนที่ติดลบ 0.2%

INSEE รายงานว่า ราคาสินค้าอุตสาหกรรมและยาสูบยังทรงตัว โดยมีอัตราการเติบโตเท่ากับเดือนก่อน เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี HICP ปรับตัวลงเล็กน้อย สาเหตุหลักมาจากราคาค่าบริการที่ลดลง โดยเฉพาะในภาคขนส่ง ส่วนราคาอาหารและสินค้าอุตสาหกรรมยังทรงตัว ขณะที่ราคาพลังงานและยาสูบปรับตัวขึ้นเล็กน้อย

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นต้นของฝรั่งเศสที่ไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพยุโรป (CPI) ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.3% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลข 1.2% ในเดือน ต.ค. โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0497-1.0587 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0515/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/12) ที่ระดับ 150.23/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/11) ที่ระดับ 150.04/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังวันศุกร์ (29/11) เยนแข็งค่ามากที่สุดเทียบดอลลาร์ นับตั้งแต่เดือน ก.ค. ภายหลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของกรุงโตเกียว ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดที่มีความผันผวนนั้นเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือน พ.ย. โดยเพิ่มขึ้นจาก 1.8% ในเดือน ต.ค. และสูงกว่าคาดการณ์ที่คาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 2.1%

โดยตัวเลขที่ออกมาหนุนโอกาสที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า สวนทางทิศทางดอกเบี้ยเฟด โดยในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.52-150.74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.23/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของสหรัฐ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน พ.ย. (2/12), ดัชนี PMI ภาคการผลิตจากสถาบันไอเอสเอ็ม (ISM) เดือน พ.ย. (2/12), ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่จาก JOLTS เดือน ต.ค. (3/12), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการเดือน พ.ย. (4/12), ดัชนี PMI ภาคการบริการจากสถาบันไอเอสเอ็ม (ISM) เดือน พ.ย. (4/12), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (5/12), ตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือน ต.ค. (5/12), การจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน พ.ย. (6/12), และอัตราการว่างงานเดือน พ.ย. (6/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.75/-9.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.7/4.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ