“อัสสเดช” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย ชูแผนพัฒนา 3 ปี เพิ่มโครงการ Jump+ หนุนมูลค่า บจ. พัฒนา Bond Connect เปิดตลาดคาร์บอนเครดิต หวังขับเคลื่อนตลาดทุนให้มีศักยภาพ ยกระดับตลาดทุนไทย สู่การเป็น Top List ตลาดทุนโลก
นายอัสสเดช คงศิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Sustainable Growth for Thailand’s Capital Market เสริมศักยภาพตลาดทุนไทย สู่ Top List ตลาดทุนโลก ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯมีแนวทางที่จะพัฒนาตลาดทุน จากแผนพัฒนา 3 ปีที่ได้นำเสนอในช่วงที่ผ่านมา โดยมีแนวทางในการทำเพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม
ซึ่งมีกลยุทธ์ 3 ข้อหลัก คือ 1.มุ่งมั่นเพื่อโอกาสการเติบโต (Enable Growth Ambitiously) สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำมาช่วง 50 ปีที่ผ่านมาจะทำอย่างต่อเนื่อง เช่น การสนับสนุน IPO ให้มีอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดทุนมากขึ้น
2.ร่วมพัฒนาเพื่อความทั่วถึง (Grow Together and Inclusively) สร้างโอกาสให้คนเข้าถึงการลงทุนมากขึ้น โดยตลาดหลักทรัพย์ฯได้สร้างแพลตฟอร์มการลงทุน อย่าง AomWise ขึ้นมาให้สำหรับนักลงทุนที่อาจมีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ ซึ่งแพลตฟอร์มภายใต้ AomWise ตั้งใจอยากให้เห็นว่าปัจจุบันพอร์ตลงทุนทั้งหมดมีอะไรบ้าง จะมีการดึงข้อมูลมาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้ชีวิตการลงทุนง่ายขึ้น
ขณะเดียวกัน Inclusively จะเป็นการสนับสนุน สตาร์ตอัพ SMEs ให้เข้าถึงตลาดทุนได้เช่นกัน
และ 3.สรรค์สร้างคนและอนาคต (Groom People and Our Future) เป็นการทำให้คนออมได้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น และโดนโกงน้อยลง เป็นต้น
การซื้อขายตลาดทุนที่ลดลง
หากย้อนกลับมาดูที่ตลาดทุนไทย ดัชนีหุ้นไทย 3 ปีที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมาก จากจุดสูงสุดที่ประมาณ 1,700 จุด ลงมาต่ำกว่า 1,300 จุด ลดลงกว่า 23% ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นักลงทุนต่างหาโอกาสที่จะทำกำไรได้มากที่สุด ซึ่งจะเห็นเม็ดเงินที่กลับไปลงทุนในฝั่งตลาดสหรัฐ อินเดีย มากขึ้น หากดูในระยะเวลาเดียวกันตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 15% ด้านดัชนี Nasdaq ช่วงปลายปี 2022 ดัชนีอยู่ที่ 10,000 จุด ปัจจุบันมาอยู่ที่ 19,000 จุด
อย่างไรก็ตามมองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีเสน่ห์ หนึ่งในเสน่ห์ที่ไทยสามารถดึงดูดนักลงทุนได้คือ สภาพคล่อง หากเทียบกับอาเซียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังถือว่ามีสภาพคล่องสูงที่สุด ซึ่งสามารถสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้บ้าง แต่ต้องยอมรับว่า 2-3 ปีที่ผ่านปริมาณการซื้อขายยังลดลง
”มีคนถามว่าดัชนีจะปรับสูงถึง 2,000 จุดไหม ซึ่งหากจะถึงนั้น P/E ต้องขึ้นไปถึง 40% ณ วันนี้ P/E อยู่ที่ 20 เท่า ถ้าจะให้ขึ้นไปสูงถึง 40% ในระยะเวลา 5 ปี เฉลี่ยแล้วต้องมี Growth ใน Earning 6.72% ถ้ามองกลับไป 10 ปีย้อนหลัง Earning ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉลี่ยแล้วโตปีละ 2-3%“
โปรเจ็กต์ Jump+
ทั้งนี้ หนึ่งในโปรแกรมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังพัฒนาคือการริเริ่มโครงการ Jump+ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ บจ. ซึ่งเป็นโครงการที่ตลาดหุ้นต่างประเทศเริ่มใช้กันมากขึ้น อาทิ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งจะมีการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน บจ. จัดแผนและกำหนดเป้าหมายการเติบโต สื่อสารความคืบหน้าของแผนให้กับผู้ลงทุน นอกจากนี้ โครงการ Jump+ ยังรวมไปถึงการทำดีล M&A ทั้งควบรวมและซื้อขายกิจการ ที่เป็นกลไกสำคัญ กลไกหนึ่งในการสร้างศักยภาพและการเจริญเติบโตที่ก้าวกระโดด
พัฒนา Bond Connect
อีกหนึ่งโปรแกรมที่วางแผนอยู่ คือ Bond Connect Platform เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลเข้าถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการทั้งตลาดแรกและตลาดรอง ซึ่งอยากเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าถึงมากขึ้น ทำการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น โดยมองว่าพันธบัตรเป็นหลักทรัพย์ที่ปลอดภัยมากกว่าหุ้น จึงอยากพัฒนาให้นักลงทุนเข้าถึงได้มากขึ้น
สร้าง Carbon Ecosystem
การสร้าง Carbon Ecosystem ของประเทศ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไทยสู่ Low Carbon Economy โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะสนับสนุนด้วยเครื่องมือคำนวณ Carbon Footprint (SET Carbon) ผ่าน Carbon Calculator Platform เพื่อให้ บจ. คำนวณออกมาเป็นข้อมูลได้
สร้าง Trust & Confidence
ต้องยอมรับว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา เราประสบเหตุการณ์ที่ทำให้ Trust & Confidence ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯสั่นคลอนในระดับหนึ่ง จึงต้องมุ่งเน้นในการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการกำกับตลาดทุนและแจ้งเตือนแก่ผู้ลงทุนได้ทันท่วงที นอกจากนี้การสื่อสารยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนามากขึ้น เพิ่มความรู้ด้าน CG ให้กับบอร์ดและ AC, IA, Auditor เพื่อสร้างบรรษัทภิบาลให้กับ บจ. รวมถึงประเมินประสิทธิผลพร้อมทบทวนมาตรการให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน