ซีอีโอธนาคารไทยพาณิชย์-ออมสิน ประเมินอุตสาหกรรมแบงก์ไทยปี’68 เผชิญความท้าทาย-รายได้ถูกกดดัน แนะ 3 ทางรอดเชิงนโยบายครัวเรือน-ธุรกิจต้องหนีเชย หันปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เร่งสร้างประวัติเครดิตให้ลูกค้าฐานราก-เอสเอ็มอี
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา “Thailand Next Move 2025 “Resiliency for an Uncertain World” รับมือบริบทโลกใหม่ที่ไม่นิ่ง ที่จัดโดยวารสาร การเงินธนาคาร ในหัวข้อ Banking and Beyond : Sustainable Finance บทบาทใหม่ธนาคารไทย สร้างการเงินยั่งยืนว่า
ภาพรวมอุตสาหกรรมธนาคารในปี 2568 มีความท้าทายพอสมควร เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น และภายใต้เศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงอยู่ ซึ่งคาดว่าปี 2568 ขยายตัว 2.4% ต่ำกว่าปีนี้ที่จะจบ 2.7% ดังนั้น ทิศทางการได้มาของรายได้หรือกำไรจะน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น ส่วนหนึ่งมาจากที่ต้นทุนการเงินยังสูงอยู่ และค่าธรรมเนียมยังลดลง ซึ่งสร้างแรงกดดันของรายได้ธนาคาร แต่หากสามารถบริหารจัดการได้ดีจะสามารถทรงตัวได้
แบงก์ไทยเจอโจทย์ท้าทาย 3 ด้าน
อย่างไรก็ดี โจทย์อุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์มีอยู่ 2-3 เรื่องหลัก คือ 1.หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะมีมาตรการแก้หนี้ที่จะออกมาในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ จะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่การบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) จะช่วยงบดุล (Balance Sheet) ของครัวเรือนไม่เสี่ยงเกินไป ช่วยคนไทยบริหารหนี้และการเงินได้ถูกต้องและเหมาะสม เป็นโจทย์ที่ธนาคารพาณิชย์ต้องทำ
2.ภายใต้เศรษฐกิจที่เติบโตไม่สูงอยู่ที่ระดับ 2.4% ในปี 2568 แต่จะเห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีการเติบโตอย่างมากตัวเลข 2 หลัก ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในเรื่องนี้ และ 3.การสนับสนุนธุรกิจคนไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยธนาคารได้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 1.3 แสนล้านบาท รวมถึงธนาคารจะสนับสนุนให้ทุกองคาพยพไปสู่ความยั่งยืน
แนะ 3 ทางรอด “ครัวเรือน-ภาคธุรกิจ”
ดังนั้น บนความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะมีทางรอดเชิงนโยบาย ในส่วนของครัวเรือนมี 3 ด้าน คือ 1.แก้หนี้ยั่งยืนที่จะมีการประกาศวันที่ 11 ธ.ค.นี้ 2.การฟื้นตัวรายได้ และ 3.สร้างภูมิคุ้มกัน
และภาคธุรกิจมี 3 ด้าน คือ 1.ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม จะเห็นว่าหลังโควิด-19 อุตสาหกรรมประมาณ 70% ได้เสียอันดับและการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งไทยต้องหนีเชย ผ่านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมตามศักยภาพของประเทศ เช่น ท่องเที่ยว อาหาร และสุขภาพ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแรง
2.ทันกระแสความยั่งยืน แม้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาแต่ก็ไป ไทยต้องปรับตัวให้เข้ากระแสนี้ และ 3.ยกเลิกกฎระเบียบ หากกฎระเบียบไม่เปลี่ยนแปลงการทำงานก็ยากขึ้นไป เช่น การขอใบอนุญาต (License) การทำธุรกิจดิจิทัลที่สะดวกกว่านี้ และข้อมูลภาครัฐที่เป็นธรรมและโปร่งใส
“บนเศรษฐกิจไทยปี’68 ที่มีความท้าทาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยครัวเรือนฟื้นตัวช้า ธุรกิจต้องหนีเชย ซึ่งดูว่าธุรกิจอะไรเป็นที่ต้องการของโลก หรือหลังโควิด-19 ทุกคนพูด Virtual Bank จะมาดิสรัปชั่นธนาคาร ซึ่งเราไม่ปฏิเสธดิจิทัล และคนจะต้องเป็นทางรอด ทำให้เรามุ่งไปกลยุทธ์ ‘Digital Bank with Human Touch’ ซึ่งการปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ“
จ่อปล่อยกู้หมื่นล้าน ดึงลูกค้าฐานราก-SMEs เข้าระบบ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดว่ายังไม่ค่อยดีมาก แต่มีความหวังกับมาตรการภาครัฐที่จะออกมาอีกระลอก หากมีมาตรการกระตุ้นดี จีดีพีน่าจะขยายตัวได้ 3% และเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบขอบล่าง 1-3% จะทำให้ Nominal GDP ขยายตัวได้ 4-5% ถือว่าโตได้พอสมควร
อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) มีความแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ โดยออมสินจะเน้นลูกค้าฐานราก เป็นแหล่งเงินทุนให้กับคนจน โดยตั้งเป้าเป็น Social Bank หรือธนาคารเพื่อสังคม ภายใต้สินทรัพย์ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งในด้านหนึ่งทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์และบริการที่เทียบเท่าธนาคารพาณิชย์ในทุกมิติแบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่อีกด้าน คือ การทำภารกิจเพื่อสังคมด้วยการนำกำไรจากธุรกิจเชิงพาณิชย์มาสนับสนุนภารกิจในส่วนนี้
ซึ่งในปี 2568 ธนาคารโฟกัสเรื่องการสร้างประวัติทางเครดิตให้ประชาชนฐานราก เช่น อาชีพอิสระ พ่อค้าและแม่ค้า ผ่านการดึงเข้าระบบด้วยการทำโครงการปล่อยสินเชื่อ 10,000 บาท ให้ประชาชนฐานรากประมาณ 3 แสนคน รวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วย เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเครดิตอยู่ในระบบ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างหารือกับรัฐบาล
“ออมสินเราวางบทบาทเป็น Social Bank ไม่เน้นทำกำไรสูงสุด แต่ใช้ Business Model แบบการสร้างคุณค่าร่วมหรือ CSV : Creating Shared Value นำปัจจัยทางสังคมปรับเข้ามาสู่การทำธุรกิจ ขณะที่ตั้งเป้าการทำภารกิจช่วยสังคม เช่น ลดดอกเบี้ย แก้หนี้ ดึงคนเข้าสู่ระบบ ให้ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท”
หวังดอกเบี้ยลดช่วยลดภาระหนี้-กำไรแบงก์ลดเล็กน้อย
นายวิทัยกล่าวว่า สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมธนาคารไทย มองว่าจะมี 3 เรื่องที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 คือ 1.การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) คาดว่าจะลดลง 1-2 ครั้ง จากเดิมที่คาดจะลด 3-4 ครั้ง ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลกระทบกับรายได้ของธนาคาร อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยจะเป็นผลดีต่อประชาชนในเรื่องภาระหนี้ การลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และทำให้คนเข้าสู่การเงินในระบบได้มากขึ้น
2.หนี้เอ็นพีแอลในระบบคาดว่าใกล้ถึงจุดสูงสุด (พีก) และจะอยู่ในระดับทรงตัว (Stable) หรืออาจจะลดลงทั้งจากทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน บ้าน รถยนต์ เอสเอ็มอี ที่กำลังจะออกมา ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) ของธนาคารลดลงและจะทำให้ธนาคารมีกำไรมากขึ้น
3.หากสามารถแก้หนี้และทำให้เศรษฐกิจโตได้ คาดว่าในปี 2568 สินเชื่อรวมในระบบจะไม่ติดลบแล้ว จากปัจจุบันสินเชื่อในระบบหดตัว -2%
“จากภาพรวม 3 เรื่องที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 เรามองว่ากำไรแบงก์โดยรวมจะได้รับแรงกดดันเล็กน้อย แต่เชื่อว่าจะยังสามารถรักษาระดับการเติบโตไว้ได้ อย่างไรก็ดี จะต้องดูความสำเร็จของมาตรการแก้หนี้ที่กำลังจะออกมาด้วย”