บาทอ่อนค่า หลังทรัมป์ขู่เก็บภาษีนำเข้า 100% ต่อกลุ่มประเทศ BRICS

Baht-ดอลลาร์-1

บาทอ่อนค่า หลังทรัมป์ขู่เรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 100% ต่อกลุ่มประเทศ BRICS หากมีแนวคิดสร้างสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นเพื่อมาทดแทนสกุลเงินดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 34.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากรดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/12) ที่ระดับ 34.48/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังเมื่อวานนี้ (2/12) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐขู่เรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 100% ต่อกลุ่มประเทศ BRICS หากมีแนวคิดสร้างสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นเพื่อมาทดแทนสกุลเงินดอลลาร์

นอกจากนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48.4 ในเดือน พ.ย. จากระดับ 46.5 ในเดือน ต.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47.5 โดยได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการคาดการณ์เกี่ยวกับนโยบายที่เอื้อต่อภาคธุรกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์์

อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8

นอกจากนี้ เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.7 ในเดือน พ.ย. จากระดับ 48.5 ในเดือน ต.ค. โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน และการที่คำสั่งซื้อใหม่ได้ลดลงในอัตราที่ชะลอลง

ADVERTISMENT

ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่งจากคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (2/12) เจ้าหน้าที่ระดับสูง 3 คนของธนาคารกลางสหรัฐ แสดงความชัดเจนถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า แต่ไม่ชี้ชัดว่าจะสนับสนุนเฟดลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้หรือไม่

ADVERTISMENT

โดยคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ กล่าวว่า เขามีแนวโน้มที่จะโหวตสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ แต่กล่าวเสริมว่า ข้อมูลที่จะมีการเปิดเผยก่อนหน้านั้นอาจทำให้เฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันดังกล่าว

ทางด้านจอห์น วิลเลียมส์ และราฟาเอล บอสติก แสดงความเห็นทำนองเดียวกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งและเงินเฟ้อน่าจะยังคงชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก อย่างไรก็ดี ไม่ได้บอกชัดว่า พวกเขาสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. หรือไม่ โดยจะรอดูข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับการประชุมครั้งต่อไป

ด้านปัจจัยภายในประเทศ เมื่อวานนี้ (2/12) ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน พ.ย. 67 อยู่ที่ 49.3 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 47.0 ในเดือน ต.ค. 67 จากการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ สำหรับความเชื่อมั่นในภาคการผลิตปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดธุรกิจ นำโดยกลุ่มผลิตพลาสติก และยางพารา ที่ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและการผลิตปรับเพิ่มขึ้นมาก ตามอุปสงค์บรรจุภัณฑ์อาหารที่ขยายตัวดี เช่นเดียวกับกลุ่มผลิตอาหาร ที่ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ และการผลิตปรับเพิ่มขึ้น

ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิต ปรับเพิ่มขึ้นมากเเฉพาะกลุ่มโรงแรม และร้านอาหาร ที่ความเชื่อมั่นดีขึ้นในทุกด้าน จากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวตามกลุ่มตลาดระยะไกล (Long haul) โดยเฉพาะตลาดภูมิภาคยุโรป และสหรัฐ

โดยในวันนี้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 34.30-34.57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (3/12) ที่ระดับ 1.0491/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/12) ที่ระดับ 1.0511/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากเมื่อวานนี้ (2/12) ผลสำรวจระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนจาก HCOB ซึ่งจัดทำโดย S&P Global ร่วงแตะระดับ 45.2 ในเดือน พ.ย. ตรงตามตัวเลขประเมินเบื้องต้น

ทั้งนี้ ต่ำกว่าระดับของเดือน ต.ค. ที่ 46.0 และอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 มาตั้งแต่กลางปี 2565 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะหดตัว อีกทั้ง รัฐบาลฝรั่งเศสก็ส่อแววล้มในสัปดาห์นี้ หลังพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดและฝ่ายซ้ายยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีมิเชล บาร์นิเยร์ หลังบาร์นิเยร์ ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (2/12) ว่าจะผลักดันร่างกฎหมายประกันสังคมผ่านสภาโดยไม่มีการลงมติ เนื่องจากข้อเสนอประนีประนอมในนาทีสุดท้ายไม่สามารถดึงเสียงสนับสนุนจาก RN ได้

โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักลงทุนตอบโต้ด้วยการเทขายสินทรัพย์ฝรั่งเศสทันที โดยวิกฤตทางการเมืองดังกล่าว ทำให้เกิดข้อกังขาว่างบประมาณประจำปีของฝรั่งเศสจะผ่านสภาหรือไม่ และหากไม่มีอะไรพลิกโผในนาทีสุดท้าย รัฐบาลผสมของนายกฯ บาร์นิเยร์ จะเป็นรัฐบาลฝรั่งเศสชุดแรกที่ถูกโค่นด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจนับตั้งแต่ปี 2505

โดยในวันนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0479-1.0527 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0523-1.0534 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (3/12) ที่ระดับ 149.81/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/12) ที่ระดับ 150.36/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้เมื่อวานนี้ (2/12) ผลสำรวจภาคเอกชนเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ปรับตัวลงจากระดับ 49.2 ในเดือน ต.ค. สู่ระดับ 49.0 ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. และยังคงต่ำกว่าระดับ 50.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

ส่วนดัชนีย่อยด้านคำสั่งซื้อใหม่ยังคงหดตัวต่อเนื่องในเดือน พ.ย. แม้ว่าหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือน ต.ค. โดยมีสาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ยังต้องปรับลดการผลิตเนื่องจากอุสงค์ที่ซบเซา ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตดิ่งลงแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ส่วนการจ้างงานก็หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน

ถึงกระนั้น แรงกดดันด้านต้นทุนยังคงรุนแรง อันเป็นผลมาจากค่าแรง ค่าขนส่ง และค่าวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบนำเข้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อด้านราคาผลผลิตก็แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. โดยผลสำรวจระบุว่า แม้อุปสงค์ซบเซา แต่ผู้ผลิตยังคงมองแนวโน้มธุรกิจในแง่บวก โดยระดับความเชื่อมั่นพุ่งแตะจุดสูงสุดในรอบ 3 เดือน ด้วยความหวังจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

ในวันนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 149.48-150.23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่จาก JOLTS เดือน ต.ค. (3/12), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการเดือน พ.ย. (4/12), ดัชนี PMI ภาคการบริการจากสถาบันไอเอสเอ็ม (ISM) เดือน พ.ย. (4/12), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (5/12), ตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือน ต.ค. (5/12), การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ย. (6/12), และอัตราการว่างงานเดือน พ.ย. (6/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.7/-7.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.3/-5.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ