คลังสั่งศุลกากรเข้มตรวจปล่อยสินค้านำเข้าจากจีน ยกเลิกด่าน “มุกดาหาร-นครพนม” เป็น “ด่านพิเศษ” เปลี่ยนจาก “สุ่มตรวจ” เป็น “ตรวจ 100%” ชี้เป็นส่วนหนึ่งมาตรการปกป้องผลกระทบต่อสินค้าไทย ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “อย.-สมอ.-กระทรวงพาณิชย์” จะเพิ่มความเข้มงวดเรื่องมาตรฐานสินค้าด้วย
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้กรมศุลกากร เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบควบคุมคุณภาพสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปกป้องสินค้าไทยจากการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีน
โดยเฉพาะสินค้าที่ผ่านด่านศุลกากรมุกดาหาร และด่านศุลกากรนครพนม ที่ได้สั่งการให้ตรวจปล่อยสินค้าทุกตู้แบบ 100% ไม่สุ่มตรวจ รวมถึงยกเลิกการเป็นด่านพิเศษ หรือด่าน Express ที่มีการตรวจปล่อยรวดเร็วเป็นพิเศษ ที่ควรใช้เฉพาะในสนามบิน
“สินค้าจากจีน ถ้ามาทางรถยนต์ ส่วนใหญ่จะเข้ามามากทางด่านศุลกากรมุกดาหาร กับด่านนครพนม วันนี้เราจะเข้มเรื่องการตรวจปล่อยสินค้า จะดูเอกสารนำเข้า ราคา ทุกอย่าง ดังนั้นการนำเข้าอาจจะไม่สะดวกรวดเร็วอย่างที่เคยเป็นมา คือต้องเพิ่มความเข้มข้น แต่ไม่ได้ไปแกล้งเขา เพียงแต่ตรวจละเอียดขึ้น จากเดิมที่สุ่มตรวจ ตอนนี้กรมศุลฯก็รับนโยบายไปแล้ว ว่าจะตรวจ 100%” นายลวรณกล่าว
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ก็จะมีการควบคุมคุณภาพมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น องค์การอาหารและยา (อย.) ที่มีมาตรฐาน อย. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่มีมาตรฐานอยู่ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์
“ในเมื่อเราไปเซ็นเอฟทีเอกับเขาแล้ว อันนี้เป็นกติกาที่รู้ล่วงหน้า แต่ถามว่าเราแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งที่เราทำได้ก็คือ การควบคุมคุณภาพสินค้าที่จะเข้ามา ไม่ใช่ปล่อยเข้ามาอย่างเสรี สินค้าไหนต้องผ่านเกณฑ์ อย. ก็ต้องผ่าน อย. หรือต้องผ่านมาตรฐาน สมอ. ก็ต้องผ่าน สมอ.” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีข้อเสนอแนะการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 และในปี 2568 โดยประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม
โดยมุ่งเน้น 1) การปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้มีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้น และเร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมสินค้านำเข้า
รวมทั้งการส่งเสริมการสร้างความร่วมมือในการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมด้านมาตรฐานระหว่างประเทศ และการเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
2) การยกระดับมาตรการกำกับดูแลผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศ โดยเร่งรัดให้ผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศต้องจดทะเบียนนิติบุคคลและมีสำนักงานในไทยเพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแล การเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับเพื่อให้ครอบคลุมรายการสินค้าที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ
รวมถึงการเร่งรัดปรับปรุงกฎหมายภาษีสำหรับผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทย
3) การตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ และการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวนการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน และมาตรการปกป้องจากการนำเข้า และ
4) การดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษี หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ ควบคู่ไปกับการยกระดับผู้ประกอบการและมาตรฐานสินค้าไทย